ไขข้อสงสัย เคสเด็ก 7 เดือน ส่งผ่าตัดหัวใจ ทำไมไม่เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์

เพจดังไขข้อสงสัย เคสฉุกเฉินเด็ก 7 เดือน ต้องเดินทางไปผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะหัวใจ ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เหตุใดถึงไม่ใช้เฮลิคอปเตอร์

จากกรณีเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 ที่มีการเคลื่อนย้ายเคสฉุกเฉิน เด็ก 7 เดือน จากโรงพยาบาลหนองคาย เพื่อไปผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะหัวใจ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งทางเพจต่างๆได้มีการโพสต์ขอความร่วมมือให้ผู้ใช้รถบนถนนมิตรภาพ-พหลโยธิน หลีกเส้นทาง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้รถพยาบาล ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น

 

ไขข้อสงสัย เคสเด็ก 7 เดือน ส่งผ่าตัดหัวใจ ทำไมไม่เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์

อย่างไรก็ตาม ได้มีชาวเน็ตเกิดการตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมภารกิจนี้จึงไม่ใช้เฮลิคอปเตอร์ในการเดินทาง เนื่องจากเส้นทางจากหนองคาย มายังกรุงเทพฯนั้นใช้เวลามานานกว่า 6 ชั่วโมง


ซึ่งทางด้านเพจเฟซบุ๊ก ถนนมิตรภาพ-รถติดบอกด้วย ได้ออกมาไขข้อสงสัยถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า "สำหรับสมาชิกที่สอบถามเรื่องการใช้อากาศยานในการลำเลียง เคสเด็กน้อย จังหวัดหนองคาย ทางเพจฯ ได้ประสานและได้คำอธิบายจากบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องด้วยข้อจำกัดของตัวผู้ป่วยและปัจจัยภายนอกต่างๆ"


นอกจากนี้ ทางเพจยังได้เผยข้อมูลจากคุณหมอ ระบุว่า "น้องเป็นผนังหัวใจรั่วกับอายุยังน้อย มีข้อจำกัดในการใช้อากาศยาน เนื่องจากแรงกดอากาศ มีผลกับเรื่องลมรั่วในผนังหัวใจของน้อง และอุปกรณ์บางอย่างไม่สามารถขึ้นเครื่องได้ เพราะมีการคำนวณเกี่ยวกับแรงกดดันของอากาศ"

 

 

ไขข้อสงสัย เคสเด็ก 7 เดือน ส่งผ่าตัดหัวใจ ทำไมไม่เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์

ขณะที่เพจ Drama-addict ก็ได้ออกมาไขข้อสงสัยด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า "จากข่าวส่งตัวเด็กน้อยที่ป่วยหัวใจแต่กำเนิด ไปโรงพยาบาลโรงพยาบาลจุฬา มีทั้งคอมเมนต์ถามในต้นโพสต์ กับส่งหลังไมค์มาถามหลายคน ว่าทำไมเคสนี้ถึงไม่ให้คอปเตอร์ส่งตัวคนไข้ บางคนก็สงสัยว่าเพราะคนไข้เป็นชาวบ้านธรรมดาเป็นคนยากคนจนหรือเปล่า 


อันนี้บอกเลยว่าไม่เกี่ยว มีเพื่อนในวงการที่ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ เค้าเอาคอปเตอร์ไปรับเคสส่งเคสผู้ป่วยชาวบ้านคนจน ที่ชนบทมาไม่รู้กี่เคสแล้ว เคสต่างด้าวก็ขนด้วยคอปเตอร์มาแล้วหลายเคส แต่การส่งตัวเคสแต่ละเคสจะมีรายละเอียดปลีกย่อย ที่ต้องพิจารณาพิจารณาเป็นเคสเคสไป 


อย่างเคสเด็กคนนี้ น้องอาการไม่คงที่มีภาวะตัวเขียวเป็นพักๆ ซึ่งถ้าอาการแย่ลงระหว่างส่งตัว จะต้องแวะเข้าโรงพยาบาลระหว่างทางเพื่อทำการรักษาและประเมินอาการก่อนเดินทางต่อไป 


ดังนั้นทางทีมส่งตัวผู้ป่วยคงประเมินแล้วว่าส่งด้วยวิธีการนี้จะปลอดภัยและมีความเสี่ยงน้อยกว่า ก็ประมาณนี้ และสุดท้ายน้องก็ไปถึงที่หมายโดยปลอดภัย ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่าน และขอบคุณประชาชนที่ช่วยกันเปิดทางระหว่างน้องเดินทางไปจุฬาฯ


อนึ่ง เคสแบบนี้เวลาตัดสินใจวิธีการส่งตัว จะมีหมอและเจ้าหน้าที่ตัดสินใจร่วมกันหลายคน คงผ่านการพิจารณารอบคอบแล้วว่าวิธีไหนเหมาะสมสุดตามสถานการณ์และทรัพยากรที่มี เรื่องแบบนี้ต้องเชื่อใจคนหน้างาน"

 

ขอบคุณ FB : ถนนมิตรภาพ-รถติดบอกด้วย , Drama-addict