- 25 ม.ค. 2567
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เปิดความจริง ภาพชายคนแรกในโลก ที่ให้เงินภรรยา
แชร์กันว่อนโซเชียลเลยทีเดียว กับภาพชายรายหนึ่ง ที่มีการเปิดเผยข้อมูลว่า เป็นชายคนแรกที่ให้เงินภรรยา จนทำให้ การกระทำของเขานั้น ถูกทำตามจนกลายเป็นสิ่งที่ถูกทำตามกันทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น "อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเผยว่า
"รูปชายคนนี้ ไม่ใช่ชายคนแรกที่ให้เงินแก่ภรรยา แต่เป็นชายคนสุดท้ายที่เป็นสายเลือดอะบอริจินแท้ๆ ในเกาะทัสมาเนีย"
มีการเผยแพร่รูปของชายคนนี้ โดยระบุว่าเป็นนาย "เปอร์ลิค ยูเบนจิ" ผู้ชายคนแรกที่หาเงินมาได้เท่าไหร่ ก็ยกให้แก่ภรรยาของเขาทั้งหมด ในปี ค.ศ. 1825 ก่อนที่ธรรมเนียมการให้เงินภรรยา จะแพร่หลายไปยังหลายๆ ประเทศ เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับสามีทั้งหลาย และเป็นคนที่ทำให้ชายทั่วโลกต้องทุกข์ทรมาน มาจนถึงทุกวันนี้ !?
แต่ๆๆ ถ้าเอารูปของเขาไปหาในกูเกิ้ล จะพบว่าจริงๆ แล้ว เขาชื่อว่า วิลเลียม เลนน์ หรือ วิลเลียม เลนนี่ (William Lanne หรือ William Lanné หรือ William Laney) ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19 เกิดประมาณปี ค.ศ. 1835 จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ปี 1869 (จะเห็นว่า ปี 1825 ที่แชร์กันนั้น เขายังไม่เกิดเลย) และประวัติชีวิตของเขาก็เป็นที่น่าสนใจมากๆ ครับ
วิลเลียม เลนน์ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ คิง บิลลี่ (King Billy) เนื่องจากเชื่อกันว่า เขาเป็นชายชาว อะบิริจิน (Aborigin) คนสุดท้ายบนเกาะทัสมาเนีย (Tasmania) ของทวีปออสเตรเลีย ที่เป็นคนสายเลือดแท้ 100% "full-blooded" ในอาณานิคมทัสมาเนีย (the colony of Tasmania) ที่ประเทศสหราชอาณาจักรไปตั้งไว้บนเกาะทัสมาเนีย ระหว่างปี 1856 ถึงปี 1901
วิลเลียม ถือกำเนิดประมาณปี 1835 ซึ่งต่อมาในปี 1842 เขากลายเป็นเด็กที่อายุน้อยที่สุด ของครอบครัวอะบอริจินกลุ่มสุดท้าย ที่ถูกพาตัวไปจากแหลม เคปกริม (Cape Grim อยู่ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะทัสมาเนีย ) ให้มาอยู่ที่แคมป์ชาวอะบอริจิน บนเกาะฟลินเดอร์ (Flinders Island เป็นเกาะย่อย อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะทัสมาเนีย) โดยนาย จอร์จ ออกัสตัส โรบินสัน (George Augustus Robinson เจ้าหน้าที่ดูแลอาณานิคมออสเตรเลีย ของประเทศสหราชอาณาจักร)
เนื่องจากตอนที่ไปถึงนั้น วิลเลียมมีอายุเพียง 7 ขวบและได้รับการตั้งชื่อภาษาอังกฤษให้ จึงไม่มีใครทราบว่าชื่อเดิมของเขาคืออะไร และต่อมา เขากลายเป็นคนสุดท้ายในครอบครัว ที่มีชีวิตรอดจากการอยู่ที่เกาะฟลินเดอร์ จนปี 1847 เขาได้ถูกส่งไปอยู่ที่บ้านเด็กกำพร้า ที่เมือง โฮบาร์ต (Hobart เมืองหลวงของเกาะทัสมาเนีย) และต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่ชุมชม ออยสเตอร์ โคฟ (Oyster Cove อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองโฮบาร์ต)
ในปี 1855 รัฐบาลปกครองอาณานิคมทัสมาเนีย ได้สั่งให้คนที่อยู่ที่ชุมชนออยสเตอร์โคฟ ออกไปหางานทำนอกถิ่นอาศัย วิลเลียมจึงไปได้งานเป็นนักล่าวาฬ บนเรือล่าวาฬหลายลำ ต่อจากนั้นมา
วิลเลียมเป็นที่พูดจาดี มีอารมณ์ขัน และเป็นที่ชื่นชอบของคนที่เมืองโฮบาร์ต และออกมาเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพชีวิต ของสตรีในชุมชนออยสเตอร์โคฟ ด้วยการเขียนคำร้องไปที่เจ้าหน้าที่ปกครองอาณานิคมในปี 1864
ในปี 1868 เขาได้รับเกียรติไปเป้นแขกในงานแข่งเรือ Hobart Regatta และได้เข้าพบ ดุ้ก แห่งเอดินเบอระ (Duke of Edinburgh) ด้วย ซึ่งตอนนั้นเอง ที่เขาได้รับการแนะนำตัวจากผู้ว่าราชการ (governor) ว่าเป็น "พระราชาแห่งชาวทัสมาเนีย "King of the Tasmanians"
วิลเลียมเสียชีวิตในวัยเพียง 34 ปี หลังจากที่เขาออกไปกับเรือล่าวาฬ และเมื่อกลับมาได้ 2 สัปดาห์ ก็ป่วยเป็นโรคอหิวาตกโรค และโรคบิด จนเสียชีวิตในวันที่ 3 มีนาคม 1869
แต่ความวุ่นวายก็ตามมาหลังจากเขาเสียชีวิตแล้ว เนื่องจากที่เขาเป็นคนเชื้อสายอะบอริจินแท้ๆ ของเกาะทัสมาเนีย จึงมีการนำร่างของเขามาผ่าศึกษาทางการแพทย์ และเกิดการโต้เถียงกัน ระหว่างราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งอังกฤษ (the Royal College of Surgeons of England) และราชสมาคมแห่งแทสเมเนีย (the Royal Society of Tasmania) ว่าใครควรครอบครองซากศพของเขา
ยิ่งไปกว่านั้น มีชายคนหนึ่งชื่อ วิลเลียม โครว์เทอร์ (William Crowther) ที่พยายามขออนุญาตเอาโครงกระดูกของวิลเลียม เลนนี่ ส่งไปยังราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งอังกฤษ แต่เมื่อคำขอของเขาถูกปฏิเสธ เขาก็ได้บุกเข้าไปในห้องเก็บศพ ตัดหัวศพออก และขโมยกระโหลกไปศึกษา ตามสมมติฐานที่เขาอ้างว่า การที่วิลเลียม เลนนี่ ได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนชาวยุโรป สมองของเขาจึงมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ที่แสดงให้เห็นถึง "พัฒนาการที่เกิดขึ้นในชนชาติที่ต่ำกว่า เมื่ออยู่ภายใต้ผลกระทบของการศึกษาและอารยธรรม"
แม้ว่า สุดท้ายแล้ว จะไม่เป็นทราบแน่ชัด ว่าเกิดอะไรขึ้นกับซากศพของเลนนี่ที่ถูกขโมยไป แต่ในปี 1990 มีการบริจาคซากศพ ที่เป็นของสะสมของ วิลเลียม โครว์เทอร์ ให้กับแผนกกายวิภาคศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ซึ่งศูนย์ชาวอะบอริจิน ทัสมาเนีย (the Tasmanian Aboriginal Centre) เชื่อกันว่ามีกะโหลกของเลนนี่ อยู่ท่ามกลางซากศพเหล่านั้น และเรียกร้องขอกลับคืนมา .. จนในที่สุด ซากศพของชาวอะบอริจินเหล่านั้น ก็ได้ถูกส่งกลับไปฝังที่เกาะทัสมาเนีย แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะปฏิเสธอย่างเป็นทางการ ว่าไม่มีซากใดที่เป็นของเลนนี่