- 26 ม.ค. 2567
หมอหมู รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชวิทยา มศว ให้ความรู้โรคไข้หูดับจากกรณีสาววัย 23 ปีติดเชื้อจากปลายตะเกียบเนื่องจากกินหมูกระทะไม่แยกตะเกียบ
ไทยนิวส์ออนไลน์ ได้สัมภาษณ์ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชวิทยา มศว หรือ หมอหมู ถึงกรณีสาววัย 23 ปีติดเชื้อไข้หูดับหลังกินหมูกระทะแล้วไม่แยกตะเกียบที่ใช้คีบหมูดิบกับหมูสุก ทำให้ต้องกลายเป็นผู้พิการทางการได้ยินหูด้านซ้ายดับสนิท หูขวาได้ยินแว่วๆต้องใส่เครื่องช่วยฟัง หมอหมู ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรค การเข้าสู่ร่างกายของเชื้อและวิธีการป้องกัน
หมอหมูอธิบายว่า โรคไข้หูดับ คือ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า "สเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis)" ที่อาศัยอยู่ในหมูเกือบทุกตัว เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเดิมทีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดโรค แต่หากหมูเกิดมีอาการป่วยหรือร่างกายอ่อนแอขึ้นมา เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะค่อย ๆ เพิ่มจำนวน จนทำให้หมูป่วยและตาย ซึ่งหากมนุษย์ได้ไปรับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกาย ก็จะเกิดการติดเชื้อ ซึ่งเชื้อนี้ทำให้เกิดไข้หูดับ เกิดความพิการ และอาจติดเชื้อเข้ากระแสเลือดถึงแก่ชีวิตได้
เชื้อแบคทีเรียสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ 2 ทาง คือ
1. การกินเนื้อหรือเลือดของหมูดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น เนื้อหมูที่ย่างไม่สุก
2. เชื้อผ่านเข้ามาทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จากการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงหรือหมูที่ติดเชื้อ อย่างเช่นคนเลี้ยงหมูหรือเขียงหมูที่มีบาดแผลที่มือ แม้เป็นแค่แผลถลอกแต่หากสัมผัสเนื้อหมูที่ติดเชื้อโดยตรงก็สามารถรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน
ในประเทศไทยเอง พบโรคนี้ครั้งแรกในปี พ.ศ.2530 ในรายที่รุนแรงเชื้อแบคทีเรียนี้เข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง ประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง และกระแสเลือด จนนำไปสู่การเสียชีวิต
ส่วนผู้ป่วยบางรายที่ไม่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็จะพบกับความพิการตามมา เช่น หูหนวก สูญเสียการทรงตัว ตาบอด
กรณีของคุณมายส่วนตัวคุณหมอบอกว่าถือว่าร้ายแรงแต่ไม่ถึงกับชีวิตเพราะรักษาได้อย่างทันท่วงที ส่วนความเข้าใจที่หลายๆคนเข้าใจว่าใช้ตะเกียบร่วมกันโดยไม่แยกแต่นำไปจุ่มแช่น้ำในเตาไว้นั้นไม่ได้ช่วยให้เชื้อตายเพราะจริงๆแม้เชื้อพวกนี้จะไม่ทนความร้อนก็จริงแต่ต้องเป็นความร้อนในอุณหภูมิ 70 องศา และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-10 นาที เพราะฉะนั้นการที่เราแช่ตะเกียบไว้เพียงไม่กี่วินาทีจึงทำให้เชื้อจากหมูดิบยังติดอยู่ที่ปลายตะเกียบ
ป้องกันตนเองอย่างไรไม่ให้ โรคไข้หูดับ มาเยือน
1. หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้ออาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ โดยเฉพาะเนื้อหมู ควรปรุงด้วยความร้อนที่อุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาที หรือปรุงสุกจนไม่มีสีแดงหรือเลือดที่ชิ้นเนื้อ
2. แยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน
หากต้องการให้เป็นมาตรฐานเลยก็ควรสวมถุงมือทุกครั้งในการทำอาหารนั่นเอง