- 19 ก.พ. 2567
ธนาคารดัง ชี้แจงแล้ว ปมลูกค้าโดนดูดเงินรัวๆจากแอปฯธนาคาร ครั้งละ 33.28 ทุกนาที ยันไม่ได้เกิดจากข้อมูลภายในรั่วไหล หรือ mobile banking ถูก hack
กรณีแอปฯธนาคารดังดูดเงินหายไม่รู้ตัวทุกนาที โดยมีผู้เสียหายร้องทุกข์ ใช้แอปออนไลน์ของธนาคารแห่งหนึ่ง โดนดูดเงิน 33.28 บาท ทุก 1 นาที บางคนฟาดเคราะห์โดนหลายครั้ง เป็นสิบๆยอด แบบไม่ทราบสาเหตุ ล่าสุดทาง ธนาคารดังชี้แจงแล้ว ยัน ไม่ได้เกิดจากข้อมูลภายในรั่วไหล หรือ mobile banking ถูก hack
ล่าสุดทาง ทีทีบี -ธนาคารทหารไทยธนชาตได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับ แอป ttb touchแล้วว่า
ทางธนาคารได้ทราบเรื่อง และไม่ได้นิ่งนอนใจกำลังเร่งตรวจสอบรายการทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ รายการที่ผู้ถือบัตรเดบิตไม่ได้ทำรายการเองและมีการตรวจสอบแล้ว ทางธนาคารจะทำการปรับปรุงรายการคืนเงินให้ ภายใน 5 วันทำการ
ธนาคารมีระบบการตรวจจับรายการผิดปกติแบบ real time ดังนั้นขอให้ลูกค้ามั่นใจในการการใช้งาน และธนาคารมีการยกระดับความปลอดภัยโดยท่านลูกค้าสามารถเลือกทำการเปิด-ปิด function การใช้งานออนไลน์ได้บนแอป ttb touch
โดยไปที่ การตั้งค่า
- จัดการบัตรเดบิต
- กำหนดวงเงินและการใช้บัตร
- การอนุญาต
- เลือกปิด การอนุญาตใช้ซื้อสินค้า/บริการ Online
อย่างไรก็ตาม รายการผิดปกติที่เกิดขึ้น เป็นการทำรายการจากบุคคลภายนอก ไม่ได้เกิดจากข้อมูลภายในรั่วไหล หรือ mobile banking ถูก hack แต่อย่างใด
นอกจากนี้ทาง ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีเอ็มบีธนชาต ยังได้เตือนภัยอีกว่า ทุกวันนี้ เพจปลอม ที่เลียนแบบเพจ ttb bank ผุดขึ้นมามากมาย โดยจะมีเทคนิคในการหลอกลวงหลายแบบ เช่น ตั้งชื่อเพจแตกต่างกันไป มีการนำโลโก้ธนาคาร หรือรูปผู้บริหารมาสร้างความน่าเชื่อถือ เป็นต้น แต่เพจเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือเพื่อ หลอกลวง แอบอ้างเป็นธนาคาร และทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อผู้ที่หลงเชื่อ
รวมถึงชื่อเสียงของธนาคารเอง หากใครพบเจอโฆษณา หรือถูกเพจที่น่าสงสัยเหล่านี้ inbox ไปหา ใจเย็น ๆ อย่าเพิ่งรีบคุย อย่าเพิ่งรีบให้ข้อมูล ให้ลองสังเกตหน้าเพจตามเช็กลิสต์นี้กันก่อน
จากรูปประกอบ มีจุดที่ต้องเช็กทั้งหมด 8 จุด เรียงตามลำดับ ดังนี้ครับ
1. ชื่อเพจ ต้องเป็น ttb bank
2. ต้องมีเครื่องหมาย Verified ติ๊กถูกสีฟ้า หมายความว่าเพจนี้ได้รับการยืนยันจาก Facebook ว่าผ่านการรับรองบัญชีเรียบร้อยแล้ว
3. จำนวนผู้ติดตามมากกว่า 2.7 ล้านบัญชี (ข้อมูล ณ มกราคม 2567)
4. ปุ่ม Contact us ด้านหน้าเพจ เมื่อคลิกแล้วจะพาไปยังเว็บไซต์ของทีทีบี สำหรับติดต่อ ร้องเรียน หรือแจ้งปัญหาต่าง ๆ
5. รายละเอียดของธุรกิจ จะเป็น Financial Service (บริการทางการเงิน)
6. URL ของหน้าเพจ ttb bank จะเป็น https://www.facebook.com/ttbbankofficial เท่านั้น
7. Page ID คือหมายเลข 421936097949882 เท่านั้น
8. วันที่สร้างเพจคือ March 24, 2014 (หรือ 24 มีนาคม 2557)
อ่านจบแล้ว สามารถ save post ไว้ได้เลยนะครับ ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดที่สำคัญ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่าเพจที่กำลังดูอยู่นั้นคือเพจแท้ของ ttb bank หรือไม่ หากมีข้อมูลที่ผิดไปจากนี้ ให้เชื่อไว้เลยว่าเป็นเพจปลอมที่กำลังแอบอ้างธนาคารนะครับ
กรณีใครที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไปแล้ว ให้รีบนำหลักฐานไปแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน หรือแจ้งความออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ thaipoliceonline
ส่วนใครที่ยังไม่ได้หลงเชื่อให้ข้อมูลต่าง ๆ ไป แต่ไม่แน่ใจว่าเพจเหล่านั้นเป็นเพจปลอมหรือไม่ สามารถ inbox ให้แอดมินตรวจสอบได้ครับ และถ้าพบว่าเป็นเพจปลอม สามารถแจ้งร้องเรียนไปยัง Facebook ได้
โดยการคลิกปุ่ม “…” ที่ด้านบนขวาของเพจ > เลือกคำว่า Report Profile > เลือก Fake Page > กด Done เป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการร้องเรียนเพจปลอมไปยัง Facebook