- 28 ก.พ. 2567
กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เตือนประชาชนให้ระวังโรคลมแดดหรือฮีทสโตรกเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดของประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูร้อนในช่วงนี้ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอันตรายถึงชีวิต
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคลมแดด หรือ Heat Stroke เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้ เนื่องจากร่างกายมีอุณหภูมิสูงมากผิดปกติ จากการที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกาย ยืนเข้าแถว ฝึกทหาร หรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ร่วมกับสภาวะร่างกายที่ไม่สามารถปรับตัวได้ โดยพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน อาการมักจะเริ่มสังเกตได้เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ หน้ามืด ตัวแดง กระสับกระส่าย คลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ซึม สับสน ไม่รู้สึกตัว ชัก หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบสมอง หัวใจ ไต และกล้ามเนื้อ จนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ หากเริ่มมีอาการดังกล่าว หรือพบผู้ที่มีอาการสงสัยว่าจะเป็นโรคลมแดด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคลมแดดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มเสี่ยงมักจะพบในผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ แต่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ออกกำลังกายหรือต้องใช้แรงต่อเนื่องเป็นเวลานานท่ามกลางอากาศร้อนจัด สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดได้ โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรวางแผนเพื่อเลือกเวลาในการทำกิจกรรมกลางแจ้งให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ เช่น ช่วงเช้ามืด หรือตอนเย็นระหว่างพระอาทิตย์ตก หากมีความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้ปัสสาวะมาก เช่น กาแฟ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี มีอุปกรณ์ป้องกันแดด เช่น หมวก ร่ม เป็นต้น นอกจากนี้การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์และจอดนิ่งกลางแจ้ง อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคลมแดด อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่มีผลต่อระบบประสาทจากเครื่องยนต์ จึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน
หากเริ่มมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งควรหยุดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง แล้วรีบเข้าไปในพื้นที่ร่ม อากาศเย็นและมีลมถ่ายเท เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น หากอาการไม่ดีขึ้นหรือเริ่มมีอาการรุนแรงควรรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในทันที หรือหากพบผู้ที่มีอาการต้องสงสัย โดยเฉพาะในพื้นที่กลางแจ้งและมีอากาศร้อนจัด ควรรับนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ทันที