- 12 มี.ค. 2567
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ แจงความจริง ประเด็น หูฟังบลูทูธ Bluetooth ล่อไฟฟ้าแรงสูง
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุว่า
"หูฟังบลูทูธ Bluetooth ไม่ได้ล่อไฟฟ้าแรงสูง"
มีการแชร์คลิปวิดีโอ เหมือนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นริมรางรถไฟ พร้อมกับคำเตือนทำนอง "หลีกเลี่ยงการใช้หูฟังบลูทูธ ใกล้รางรถไฟฟ้า เพราะเมื่อเปิดชุดหูฟังบลูทูธบนโทรศัพท์มือถือของคุณ จะมีกระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำจากสายไฟฟ้าแรงสูงบนรางรถไฟ เข้าถึงโดยตรงผ่านหูเข้าสู่สมอง.. หลีกเลี่ยงการใช้บลูทูธบนชานชาลาฝั่งรถไฟเมื่อขับรถและยืนใกล้ช่องทางรถไฟฟ้า" !!?
ไม่จริงนะครับ ! เรื่องนี้เป็นข่าวปลอม ที่เอาคลิปข่าวอุบัติเหตุที่ประเทศอินเดีย มีคนถูกสายไฟฟ้าขาด พาดลงมาจนไฟดูด ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหูฟังบลูทูธครับ ... และผู้เชี่ยวชาญก็ยืนยันด้วยว่า การใช้หูฟังบลูทูธใกล้กับไฟฟ้าแรงสูงนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดการล่อไฟฟ้ามาช็อตได้
ข่าวปลอมที่แปลมาจากคลิปไวรัล ที่เผยแพร่กันตั้งแต่เมื่อต้นปีก่อน ในต่างประเทศนี้ (ดูตัวอย่างที่ทวิต คลิก) ซึ่งเป็นชาย 2 คนกำลังยืนคุยกันอยู่ข้ารางรถไฟ แล้วคนหนึ่งก็เหมือนถูกไฟฟ้าช็อต จนหงายหลังลงไปในราง ขณะที่อีกคนนั้นรีบวิ่งหนีไป ... พร้อมคำบรรยายอ้างว่า ผู้ชายที่ล้มลงไปบนรางรถไฟนั้น ถูกไฟฟ้าดูดเนื่องจากเขาได้ใช้อุปกรณ์หูฟังไร้สายแบบบลูทูธ ขณะที่อยู่ใกล้กับระบบจ่ายไฟและสายไฟฟ้าแรงสูงของรถไฟฟ้า พร้อมกับคำเตือนว่า “หลีกเลี่ยงการใช้หูฟังบลูทูธ ในบริเวณที่มีไฟฟ้าแรงสูง สมองจะถูกไฟฟ้าช็อตโดยตรง จนเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว”
แต่ความจริงแล้ว สำนักข่าว AFP ได้ตรวจสอบย้อนหลังคลิปวิดีโอดังกล่าว และพบว่าเป็นเหตุการณ์ในประเทศอินเดีย ที่สถานีรถไฟ ขรรคปุระ (Kharagpur railway station) ในรัฐเบงกอลตะวันตก เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 2022
ซึ่งตามรายงานข่าวของสื่อท้องถิ่น (ตัวอย่างเช่น คลิก) ระบุว่าผู้เคราะห์ร้ายดังกล่าว ชื่อว่า นาย Sujan Singh Sardar ซึ่งเขาและเพื่อนอีกคนนั้น เป็นพนักงานตรวจตั๋วของรถไฟ
ซึ่งตามในคลิปจากกล้องวงจรปิด นาย Sardar ได้ถูกสายไฟฟ้าที่อยู่บริเวณนั้น ขาดและพาดลงมาใส่ ทำให้เขาถูกไฟฟ้าดูดและบาดเจ็บ มีแผลไฟไหม้รุนแรง (แต่ไม่เสียชีวิต) โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่า อุบัติเหตุนี้อาจจะเกิดจากนก ไปทำให้สายไฟที่หลุดอยู่ ร่วงลงมาที่เขา
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญอย่างนาย Rodney Croft ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ the Germany-based International Commission on Non-Ionizing Radiation Protection (หรือ ICNIRP) ของประเทศเยอรมันนี ยังได้ออกมาปฏิเสธความเป็นไปได้ที่บลูทูธจะเหนี่ยวนำให้เกิดไฟดูดขึ้นด้วย
โดยเขาได้ระบุว่า ระบบบลูทูธกับกระแสไฟฟ้านั้น ทำงานกันบนคนละคลื่นความถี่ ไม่ได้สามารถจะมาเกี่ยวข้องกันได้ .. โดยบลูทูธ ทำงานโดยใช้เทคโนโลยีไร้สาย โดยสื่อสารกันด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า "ความถี่วิทยุ" (radiofrequency electromagnetic fields หรือ RF EMFs) ที่เคลื่อนที่ผ่านอากาศได้
ซึ่ง RF EMFs นี้ มีความถี่ที่แตกต่างอย่างมากกับ กระแสไฟฟ้า "ความถี่ต่ำ" ที่นำมาใช้ให้พลังงานกับบ้านเรือน รวมถึงรถไฟ ... ขณะที่สนามแม่เหล็ก RF EMFs ก็ไม่สามารถที่จะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าได้
ดังนั้น โดยสรุปแล้ว เราสามารถยืนใกล้กับสายไฟและรางรถไฟฟ้าได้ โดยอุปกรณ์บลูทูธจะไม่เหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าที่ความถี่ต่ำ เข้ามาหาอย่างแน่นอน