- 13 มี.ค. 2567
ราชกิจจาฯประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่องมาตรฐานคุณวุฒิในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ฉบับใหม่
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่องมาตรฐานคุณวุฒิในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ฉบับใหม่
ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่องมาตรฐานคุณวุฒิในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ฉบับใหม่ ลงนามโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณกิตติชัย วัฒนานิกร ประธานกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา
ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในข้อ 8 แห่งกฎกระทรวงมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 ประกอบกับมติคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา ในการประชุมครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่อง มาตรฐาน คุณวุฒิในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ ระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2566”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป)
ข้อ 3 ประกาศนี้
“สถาบันอุดมศึกษา หมายความว่า สถาบันที่จัดการอุดมศึกษาระดับปริญญาและระดับ ต่ำกว่าปริญญาทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชน”
“ผลลัพธ์การเรียนรู้ หมายความว่า ผลที่เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ได้จากการศึกษา ฝึกอบรม หรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติ หรือการเรียนรู้จริงในที่ทำงานระหว่างการศึกษา”
ข้อ 4 สถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาตรีทางด้านแพทยศาสตร์ ต้องกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับรายละเอียดผลลัพธ์การเรียนรู้ของมาตรฐานคุณวุฒิในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ที่แนบท้ายประกาศนี้
ข้อ 5 สถาบันอุดมศึกษาใดที่จัดการศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาตรีทางด้านแพทยศาสตร์อยู่ในวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ ต้องปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นไปตามประกาศนี้ในรอบการปรับปรุงหลักสูตรครั้งต่อไป
ข้อ 6 ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวได้ หรือมีความจำเป็นต้องปฏิบัติ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา และให้ถือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาเป็นที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มาตรฐานคุณวุฒิในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ฉบับใหม่นี้ กำหนดให้ผู้เรียนต้องมีผลลัพธ์การเรียนรู้รวมทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านองค์ความรู้ 2.ด้านทักษะ 3.ด้านจริยธรรม 4.ด้านลักษณะบุคคล
โดยในส่วนขององค์ความรู้นั้นระบุว่า จะต้องนำหลักการพื้นฐานและความรู้ไปใช้เพื่อการบริบาลสุขภาพได้ พร้อมระบุว่า จะต้องมีความรู้ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และเทคโนโลยีการแพทย์ (ดูรายละเอียดท้ายประกาศ)
ขณะที่ในด้านจริยธรรม นอกจากจริยธรรมทั่วไปแล้ว จะต้องอุทิศเวลาในการทำงาน ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น และปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเต็มใจ ให้บริการด้วยความรวดเร็ว เสมอภาค ถูกต้อง โปร่งใส ปราศจากอคติ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์