- 21 มี.ค. 2567
เปิดคำสั่ง "เศรษฐา ทวีสิน" นายกฯสั่งเด้ง บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก เข้ากรุสำนักนายกฯ ทำองกร์ตำรวจขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และกล่าวหากันเรื่องส่วนตัว
กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งเด้ง บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก เข้ากรุสำนักนายกฯเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการสงบศึกสีกากีอันร้อนระอุ โดยเมื่อวันที่ 20 มี.ค.67 ได้มีหนังสือคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรีที่ 106/2567 เรื่องให้ข้าราชการปฏิบัติงานสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า โดยปรากฏข้อเท็จจริง เป็นข่าวต่อสาธารณชน โดยทั่วไปในลักษณะต่อเนื่องติดต่อกันตลอดเวลา นับตั้งแต่ช่วงก่อนและหลังแต่งตั้ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 จนถึงปัจจุบัน
โดย พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร. แล้ว แต่ในฐานะที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องปฏิบัติราชการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ตามควรที่ปรากฏของความขัดแย้ง จนเป็นที่ประจักษ์ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และประชาชนทั่วไป เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เด้ง บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก
เรื่อง ให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงเป็นข่าวต่อสาธารณะโดยทั่วไปในลักษณะต่อเนื่องติดกันตลอดเวลานับแต่ช่วงระยะเวลาก่อนและหลังการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๖ จนถึงปัจจุบัน แม้ พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว
แต่ในฐานะที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องปฏิบัติราชการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจ มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามควรที่ปรากฎฏถึงความขัดแย้ง จนที่เป็นที่ประจักษ์ทั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติและประชาชนทั่วไป แบ่งฝักแบ่งฝายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งในทางการบริหารงานบุดคล และงานด้านกระบวนการยุติธรรม จนถึงขนาดมีการกล่าวหาต่อกันและกันในเรื่องส่วนตัว
:อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งที่ ๒๔๗/๒๕๖๖ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีการเข้าค้นบ้านพักของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่
และเคหสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศมาครั้งหนึ่งแล้ว จนกระทั่งที่สุดถึงขนาดมีการกล่าวหาให้มีการดำเนินคดีอาญา แสดงให้เห็นถึงความปฏิปักษ์ต่อกัน และความขัดแย้งส่อจะลุกลามบานปลายจนไม่อาจหาข้อยุติได้
ทั้งที่ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมกันรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ โดยต้องประพฤติปฏิบัติตนเหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจและอยู่ในจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรจ และเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม หากไม่กระทำการใด ๆ อาจเป็นเหตุให้ราชการและประชาชน ประเทศชาติ เสียหายได้
ดังนั้น เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นภารกิจหลักและบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว และเพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ใช้อำนาจให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
สมควรพิจารณาสั่งการให้ พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล และพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล ไปปฏิบัติราชการนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. ๒๕๓๔ จึงมีคำสั่งให้ พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม และให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ และสิทธิประโยชน์อื่นใดไม่ต่ำกว่าที่ได้รับอยู่เดิม โดยเบิกจ่ายจากสังกัดเดิมทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประการอื่นสั่ง ณ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๗
(นายเศรษฐา ทวีสิน)
นายกรัฐมนตรี