- 02 เม.ย. 2567
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ตอบชัด "แค่จอดรถตากแดด กระดาษทิชชูติดไฟไหม้เอง ไม่ได้ครับ"
จากกรณีหนุ่มรายหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์ข้อความ เหตุการณ์ที่เจ้าตัวนั้นได้จอดรถตากแดด ก่อนเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด แต่ยังโชคดี ดับไฟได้ทัน
(อุทาหรณ์ชั้นดี จอดรถตากแดด ระวังเจอเหตุการณ์แบบนี้ โชคดีดับไฟทัน)
ล่าสุด "อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุว่า
"แค่จอดรถตากแดด กระดาษทิชชูติดไฟไหม้เอง ไม่ได้ครับ"
วันนี้มีนักข่าวโทรมาถามเกี่ยวกับเรื่องนี้เยอะเลย ที่มีคลิป tiktok ภาพถ่ายของรถยนต์คันนึง มีไฟลุกไหม้เกิดขึ้นภายในตัวรถ โดยมีการระบุว่า มีไฟไหม้กระดาษทิชชู ไฟไหม้ซองพลาสติกใส่ไม้จิ้มฟัน ไฟไหม้เบาะรถยนต์ ฯลฯ พร้อมทั้งระบุข้อมูลเพียงแค่ว่ารถจอดตากแดดอยู่
ซึ่งต่อมามีรายงานข่าว (ดูด้านล่าง) ว่า จัดการให้สัมภาษณ์ของเจ้าของรถ คาดว่ากันที่รถจอดตากแดดตอนเที่ยงนั้น "แสงแดดผ่านกระจกหลังมา ทำให้อากาศแห้ง จนไฟลุกไหม้" !? ..
ซึ่งหลายคนที่เห็นข่าวนี้ ก็ตกใจกลัวตามไปด้วย เพราะในรถก็เก็บของเอา อย่างพวกกระดาษทิชชู นี้เช่นกัน จอดรถตากแดด เดี๋ยวไฟไหม้กันพอดี !
ซึ่งไม่จริงนะครับ ! พวกกระดาษหรือเศษไม้ ที่จะเริ่มติดไฟลุกไหม้ได้นั้น จะต้องได้รับความร้อนสูงถึงประมาณ 450 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 232° c ครับ ! อุณหภูมิภายในรถที่จอดตากแดด แม้ว่าจะช่วงเที่ยงก็ตาม ก็จะอยู่ที่สูงสุดประมาณ 60-70 องศาเซลเซียสเองครับ (ขึ้นกับอุณหภูมิในวันนั้น และรถติดฟิล์มกรองแสงหรือเปล่า)
ดังนั้น ผมจึงตอบนักข่าวไปว่า เรื่องนี้คงจะต้องรอการพิสูจน์หลักฐานเพิ่มเติม ว่าจริงๆ แล้วในรถนั้น มีวัตถุอื่นอีกไหม ที่สามารถทำให้เกิดการติดไฟได้โดยง่าย
ที่เคยเป็นข่าวในอดีต ของสิ่งของที่ลืมทิ้งไว้ในรถ แล้วทำให้เกิดไฟไหม้ได้ เมื่อเกิดอากาศร้อนสูงขึ้น จากการจอดตากแดด ได้แก่ ไฟแช็ค , กระป๋องสเปรย์ , power bank และโทรศัพท์มือถือ (รวมถึงกล้องติดรถยนต์ ที่มีแบตเตอรี่ราคาถูก) , ลูกโป่งบอลลูนที่ใส่ก๊าซไวไฟ เช่นก๊าซไฮโดรเจน ไว้ เป็นต้น
และที่จะต้องเป็นความบังเอิญสุดๆ ก็จะมีเคสของขวดน้ำ ที่ใส่น้ำไว้ แล้วตั้งในมุมที่รวมแสงได้พอดิบพอดี ให้ไปโฟกัสที่วัตถุ ที่เป็นเชื้อเพลิงในรถ ได้พอดิบดีด้วย (จะเห็นว่าต้องฟลุ๊กมากเลย)
ส่วนพวกเจลแอลกอฮอล์ ที่เคยมีข่าวแชร์กันว่า ติดไฟเองได้ เมื่อรถจอดในที่ร้อน นั้น พบว่าเป็นแค่ข่าวลือข่าวปลอมเท่านั้น ยังไม่มีเคสจริงเกิดขึ้น
ส่วนที่มีคนกังวลกันว่า แสงแดดผ่านกระจกรถ แล้วจะทำตัวเป็นเลนส์รวมแสงได้นั้น อันนี้บอกได้ว่า กระจกรถยนต์ไม่ได้มีความนูนหรือเว้าเพียงพอที่จะรวมแสงขนาดนั้นครับ ไม่งั้นเราคงได้เห็นข่าวไฟไหม้รถยนต์กันทุกๆ ปีเป็นจำนวนมากแน่ครับ