- 06 เม.ย. 2567
รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล ได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 และ มะเร็งปอด ได้อย่างน่าสนใจ
PM2.5 กับมะเร็งปอดซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงอยู่ในตอนนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์และอาจารย์ประจำหน่วยวิชาระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ออกมาเปิดเผยว่า
จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในภาคเหนือที่สะสมมายาวนานกว่า 10 ปี และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยของโรงพยาบาล ในช่วงที่เกิดฝุ่นPM2.5 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากการเปรียบเทียบอัตราการตายของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ตั้งแต่ปี 2553-2564 ระหว่าง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ พบว่าภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ และลำปาง มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดสูงที่สุด
นอกจากนี้ยังพบสัดส่วนของผู้ป่วยมะเร็งปอดในคนหนุ่มสาวของประชากรภาคเหนือสูงกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับฝุ่น PM2.5 เนื่องจากมีงานวิจัยที่รองรับทั่วโลกแล้วว่าการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาว มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปอด ได้อย่างมีนัยสำคัญ
ด้าน นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุ Update PM2.5 และมะเร็ง
วารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง Anticancer Research ฉบับเดือนเมษายน 2024 เผยแพร่บทความทบทวนหลักฐานวิชาการเกี่ยวกับผลของฝุ่นละออง PM2.5 กับมะเร็ง
นอกจากการสัมผัสกับ PM2.5 จะทำให้เสี่ยงต่อปัญหาระบบทางเดินหายใจ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผลลัพธ์ต่อทารกในครรภ์แล้ว ยังส่งผลทำให้เสี่ยงต่อมะเร็งหลายหลายชนิด ทั้งมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งต่อมลูกหมาก ฯลฯ
การสัมผัส PM2.5 เป็นระยะเวลานานนั้น พบว่าทำให้เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคมะเร็งต่างๆ ได้มากขึ้น 1.22 เท่า
โดยหากดูข้อมูลเจาะลึกรายอวัยวะ จะพบว่า เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตจากมะเร็งปอด 1.36 เท่า มะเร็งเต้านม 1.8 เท่า มะเร็งในระบบทางเดินอาหาร 1.35-1.42 เท่า
ทั้งนี้หากค่าเฉลี่ยของฝุ่น PM2.5 รอบสามปีนั้นเพิ่มขึ้นทุก 10 μg/m3 จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากขึ้น 1.16 เท่า
ดังนั้นในพื้นที่ที่ประสบปัญหา PM2.5 เป็นระยะเวลานาน ประชาชนจึงจำเป็นต้องหาทางป้องกันตัว ทั้งเรื่องใส่หน้ากาก การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ การปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินชีวิตประจำวัน เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และลดระยะเวลาที่ตนเองจะต้องสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 ให้สั้นลงเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมถึงการหมั่นประเมินสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปตรวจรักษา
ในขณะเดียวกัน นโยบายด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม พาณิชย์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาเพื่อกำจัดต้นตอฝุ่น PM2.5 ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ