- 19 เม.ย. 2567
อาลัยเศร้า "กีรติ รัชโน" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ จากไปอย่างสงบในวัย 56 ปี หลังเข้ารับการรักษาจากอาการเส้นเลือดในสมอง
จากกรณีที่ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ มีอาการป่วยวูบและล้มที่บ้านพักในคืนวันที่ 10 เม.ย. 2567 ก่อนส่งรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ล่าสุดวันที่ 19 เม.ย. 2567 ลูกสาวของ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แจ้งข่าวมายังกระทรวงพาณิชย์ ว่า กีรติ รัชโน เสียชีวิตแล้ว โดยมีข้อความดังนี้
ครอบครัวรัชโน ขอแจ้งให้ทราบว่า พ่อจั่น ได้จากไปแล้วอย่างสงบ ในวันที่ 19 เม.ย. 2567 เวลา 3:28 น.
ก่อนที่พ่อจั่นจะจากไป พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้เทศน์นำทางก่อนลมหายใจสุดท้ายผ่านทางโทรศัพท์
"ร่างกายเสมือนเป็นบ้าน บ้านของคุณกีรติตอนนี้กำลังจะผุพัง เราจึงไม่ควรไปห่วงหาอาลัยในบ้านที่กำลังจะพังทลายหลังนี้ เมื่อถึงเวลาที่บ้านพังลงมาแล้วก็ขอให้สละบ้านหลังนี้ เพื่อไปยังบ้านหลังใหม่ที่ดีกว่า บ้านที่สร้างจากคุณงามความดีตลอดชีวิตที่คุณกีรติได้สั่งสมมา"
"คุณกีรติไม่ต้องเป็นห่วงคนในครอบครัว ทั้งคุณแม่ ภรรยา และลูกทั้งสองคน ทุกคนจะสามารถอยู่ได้อย่างดีด้วยคุณงามความดีที่คุณกีรติได้ทำไว้ แม้ว่าคุณกีรติจะไม่อยู่แล้ว"
"ตอนนี้คุณกีรติกำลังจะต้องเดินทางไกล สัมภาระอะไรต่างๆ ที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเอาไป ความห่วงใยกังวลใจทั้งหลายก็ทิ้งเอาไว้ ขอให้เอาพระรัตนตรัยเป็นสิ่งนำทางในการเดินทางไกลครั้งนี้ สิ่งที่ติดตัวไปคือความดีและบุญกุศลที่สร้างสมมา"
"พ่อจั่นได้อยู่ท่ามกลางครอบครัวอย่างใกล้ชิด จนลมหายใจสุดท้าย และพ่อจั่นได้เดินทางไปสู่สุคติแล้ว"
หมายกำหนดงานศพจะแจ้งให้ทุกท่านทราบอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ลูกสาวนายกีรติ ระบุอาการของคุณพ่อว่า ล้มหมดสติในห้องน้ำภายในบ้านเมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 110 เม.ย. 2567 แพทย์ทำซีทีสแกน พบสมองด้านซ้ายมีความเสียหายรุนแรง โดยคุณพ่อเสียการรับรู้ การสื่อสาร การสั่งการต่างๆ รวมถึงความเจ็บปวด คุณหมอเลยได้เสนอแนวทางการรักษา 2 แนวทาง 1. ทำการผ่าตัด 2. ไม่ทำการผ่าตัด
การผ่าตัดจะทำให้คุณพ่อมีชีวิตต่อ โดยจะไม่รู้สึกตัว ไม่รับรู้ความรู้สึก ไม่สามารถสื่อสารและไม่สามารถเข้าใจได้ รวมถึงจะติดเตียงและมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี หากไม่ทำการผ่าตัดความดันในสมองจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและเนื้อสมองจะถูกเบียด
ทางครอบครัวได้ตัดสินใจกันภายใต้ความต้องการของคุณพ่อที่เคยคุยกันในครอบครัวและคุณพ่อได้เคยเขียนในสมุดเบาใจ (พินัยกรรมชีวิต: living will) ว่าไม่ต้องการการยื้อชีวิต ต้องการให้ปล่อยไปตามธรรมชาติ
พวกเราได้ให้ความสำคัญกับความต้องการของคุณพ่อเป็นอันดับ 1 และได้ทำการปรึกษากับคุณหมอ 3 ท่านถึงผลของการรักษาทั้ง 2 รูปแบบ จึงได้ข้อสรุปร่วมกันว่า เลือกแนวทางการรักษาแบบไม่ผ่าตัด
ต่อมาช่วงหัวค่ำ วันที่ 11 เม.ย. 2567 คุณหมอได้ทำการ CT-scan ซ้ำอีกครั้งเพื่อดูความคืบหน้าของสมองคุณพ่อ พบว่าความรุนแรงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ปัจจุบันคุณพ่อใส่เครื่องช่วยหายใจ และความดัน ชีพจร ของคุณพ่ออยู่ในสถานะที่คงที่
จนกระทั่งวันที่ 17 เม.ย. 2567 ลูกสาวนายกีรติ ได้โพสต์ข้อความอีกครั้งว่า "ขออนุญาตรายงานอาการปัจจุบันของคุณพ่อค่ะ วันนี้คุณพ่อมี ชีพจรเร็ว ความดันต่ำ สาเหตุจากการติดเชื้อในกระแสเลือดค่ะ ซึ่งอาการอยู่ช่วงที่วิกฤต ทางครอบครัวอยากใช้เวลากับคุณพ่อให้ได้มากที่สุด จึงขออนุญาตงดเยี่ยมคุณพ่อในช่วงนี้ค่ะ ทางครอบครัวขอขอบคุณความห่วงใยและกำลังใจจากทุกท่าน และขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ ขอบพระคุณค่ะ"
สำหรับประวัติของ นายกีรติ รัชโน มีชื่อเล่นว่า "จั่น" เกิดเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2510 ปัจจุบันอายุ 56 ปี
การศึกษา
- จบชั้นประถมศึกษา : โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
- จบชั้นมัธยมศึกษา : โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
- จบปริญญาตรี : คณะรัฐศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาสังคมวิทยา
- จบปริญญาโท : คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาการคลัง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
- จบระดับปริญญาเอก : บริหารธุรกิจ ยูไนเต็ด สเตตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี้ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ และการตลาดระหว่างประเทศ
ประสบการณ์การทำงาน
- ปัจจุบัน – ปลัดกระทรวงพาณิชย์
- พ.ศ. 2564 – 2565 รองปลัดกระทรวงพาณิชย์
- พ.ศ. 2562 -2563 อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
- พ.ศ. 2561 – 2562 ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์
- พ.ศ. 2559 – 2562 รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
- พ.ศ. 2556 – 2559 ผู้อำนวยการกองบริหารการค้าสินค้าทั่วไป กรมการค้าต่างประเทศ
- พ.ศ. 2554 – 2556 ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสินค้าข้อตกลง กรมการค้าต่างประเทศ
- พ.ศ. 2553 – 2554 ผู้อำนวยการกองนโยบายการค้าและพัฒนาระบบบริหาร
ผ่านการอบรม
- หลักสูตรนักบริหารระดับสูง : ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และคุณธรรม (นบส.) รุ่น 79
- หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) รุ่นที่ 11
- หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 63(วปอ.63)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับ
- มหาวชิรมงกุฎ
- ประถมาภรณ์ช้างเผือก