กรมอนามัย เตือนต้องระวัง 3 อาการยอดฮิต ผลกระทบช่วงหน้าร้อน

กรมอนามัย เตือน 3 อาการที่ประชาชนได้ผลกระทบจากความร้อนในช่วงฤดูร้อนมากที่สุด แนะดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อลดความเสี่ยง

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ความร้อนของประเทศไทย ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ค่าดัชนีความร้อน (Heat index) ช่วงวันที่ 18-27 เมษายน 2567 มีแนวโน้มอยู่ในระดับอันตรายมาก (สีแดง) 15 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี สมุทรปราการ จันทบุรี ตราด สุรินทร์ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ยะลา นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ 

 

กรมอนามัย เตือนต้องระวัง 3 อาการยอดฮิต ผลกระทบช่วงหน้าร้อน

จากผลอนามัยโพล โดยกรมอนามัย "เรื่อง ฤดูร้อนนี้ สุขภาพดีหรือยัง?" โดยสำรวจตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-4 เม.ย. มีผู้ตอบ 682 คน พบว่า ช่วงฤดูร้อนปีนี้ประชาชนมีความกังวลว่าความร้อนจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระดับปานกลาง ร้อยละ 52.8 และมีความกังวลมาก ร้อยละ 19.8 โดยอาการจากความร้อนที่พบ 3 อันดับแรก ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ร้อยละ 21.9 รองลงมา มีอาการท้องผูก ร้อยละ 13.6 และเป็นตะคริวที่ขา แขน หรือท้อง ร้อยละ 12.7 ตามลำดับ


โดยผลการสำรวจพฤติกรรมป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน ที่ประชาชนปฏิบัติเป็นประจำมากที่สุดในช่วงฤดูร้อน พบว่า ทานอาหารปรุงสุกใหม่ถึง ร้อยละ 93.9 รองลงมาคือ ล้างมือก่อนทาน/ทำอาหาร หรือหลังจากเข้าห้องน้ำห้องส้วม ร้อยละ 93.8 ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ ร้อยละ 87.8 สำหรับพฤติกรรมที่ปฏิบัติเป็นประจำได้น้อยที่สุด ได้แก่ เช็กพยากรณ์อากาศ ก่อนออกจากบ้าน ร้อยละ 56.7 อาบน้ำบ่อยขึ้นหรือหลังจากอยู่กลางแจ้ง ร้อยละ 59.3 และอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ร้อยละ 63.7

ทั้งนี้ ประชาชนควรดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากความร้อน ได้แก่ ดื่มน้ำบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัด


หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ รวมถึงรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และติดตามสถานการณ์ค่าดัชนีความร้อน จากกรมอุตุนิยมวิทยา หากค่าดัชนีความร้อน อยู่ในระดับอันตรายหรือสีส้ม ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่ในรถที่จอดตากแดดตามลำพังเด็ดขาด


ที่สำคัญควรสังเกตอาการตนเอง และคนในครอบครัว หากเสี่ยงโรคลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้แก่ อุณหภูมิแกนกลางร่างกายสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ผิวหนังแดงร้อน ชีพจรเต้นเร็วและแรง ปวดศีรษะ สับสน มึนงง คลื่นไส้หรืออาเจียน หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งหากพบผู้ป่วยโรคฮีตสโตรกให้รีบปฐมพยาบาล ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงโดยเร็ว


โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ และนำรีบส่งโรงพยาบาล หรือโทร. 1669 และขอให้ทุกคน ติดตามคำแนะนำการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ จากความร้อน จากกรมอนามัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478