ศาลสั่งจำคุกอดีต ผอ.- รอง ผอ.สามเสนวิทยาลัยคนละ 18 ปี 24 เดือน เรียกแป๊ะเจี๊ยะ

ศาลอาญาคดีทุจริตฯกลางสั่งจำคุก "อดีต ผอ.-รอง ผอ." สามเสนวิทยาลัย คดีเรียกแป๊ะเจี๊ยะ เข้ากระเป๋าตัวเองคนละ 18 ปี 24 เดือน

วันที่  24 เมษายน 2567 ที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบรางรถไฟ ศาลอ่านคำพิพากษา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นโจทก์ฟ้องอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กับพวกรวม 3 คน เป็นจำเลย ในกรณีร่วมกันกระทำความผิดด้วยการเรียกรับเงินบริจาคจากผู้ปกครองนักเรียนโดยไม่นำเข้าระบบการเงิน เพื่อเป็นรายได้ของโรงเรียน และร่วมกันเบียดบังเงินบริจาคไปโดยทุจริต

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่า ระหว่างเดือนมกราคม - มิถุนายน 2560 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาสามเสนวิทยาลัย และจำเลยที่ 2 รองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาสามเสนวิทยาลัย ร่วมกันกระทำความผิดด้วยการเรียกรับเงินบริจาคจากผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 6 ราย โดยไม่นำเข้าระบบการเงินเพื่อเป็นรายได้ของโรงเรียน โดยร่วมกันเบียดบังเงินบริจาคไป เป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริต

และยังร่วมกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนมัธยมศึกษาสามเสนวิทยาลัย ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจให้เจ้าหน้าที่การเงิน เเละบัญชีของโรงเรียน กรอกข้อความลงในเอกสารใบเสร็จรับเงินซึ่งไม่ตรงต่อความจริงอันเป็นการกระทำโดยทุจริตต่อหน้าที่ ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147มาตรา 148มาตรา 157 และมาตรา 162(1), (5) ประกอบมาตรา 86,90, 91 ตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบป รามการทุจริต พ.ศ. 2542ฯ

และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148มาตรา 157 และมาตรา 162(1), (4) ประกอบมาตรา 86 มาตรา 90และมาตรา 91ตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561มาตรา 192  และขอให้ริบทรัพย์สินหรือประโยซน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าในความผิดฐานร่วมกันเบียดบังเงินบริจาคนั้น โจทก์มีผู้ปกครอง 6 ราย ให้การยืนยันว่า จำเลยที่ 1,2 ร่วมกันรับเงินบริจาคที่ประสงค์จะมอบให้โรงเรียนมัธยมศึกษาสามเสนวิทยาลัย เพื่อให้บุตรหลานของตนได้รับการพิจารณาให้เข้าศึกษาในโรงเรียน ประเภทเงื่อนไขพิเศษ แต่กลับไม่มีการออกใบเสร็จรับเงินให้

ซึ่งจำนวนเงินที่ผู้ปกครองกล่าวอ้างนั้นก็สอดคล้องกับหลักฐานการถอนเงินจากบัญชีธนาคาร และต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1,2 มาก่อน ที่จำเลยที่ 1,2 นำสืบว่าเงินที่ได้รับมานั้นได้นำไปมอบให้คณะกรรมการภาคีเครือข่ายการรับนักเรียนและการระดมทรัพยากรเพื่อมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่จำเลยที่ 2 ทำการแต่งตั้งนั้น

แต่การจัดตั้งคณะกรรมการภาคีเครือข่ายดังกล่าว ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งไม่เป็นไปตามแนวทางในการปฏิบัติการระดมทรัพยากรของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน อีกทั้งการรับมอบเงินโดยคณะกรรมการดังกล่าวต้องปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง พ.ศ.2551และระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าด้วยการบริหารจัดเก็บเงินรายได้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2551


 

แต่คณะกรรมการดังกล่าวกลับทำผิดระเบียบทั้งหมด เนื่องจากเมื่อรับมอบเงินบริจาคมา ก็ไม่มีการออก ใบเสร็จรับเงินให้และไม่นำเงินบริจาคไปเข้าบัญชีเงินฝากของโรงเรียนในทันที แต่นำเงินไปเก็บไว้ในตู้เซฟที่อยู่ในห้องทำงานของจำเลยที่  2 ซึ่งไม่ใช่ตู้เซฟของทางราซการ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีหน้าที่รับเงินบริจาคไมใช่กรรมการเก็บรักษาเงินและตรวจนับเงินที่โรงเรียนแต่งตั้งขึ้นเงินที่เก็บไว้ในตู้เซฟตามระเบียบต้องเก็บไว้ได้ ไม่เกินวันละ 3หมื่นบาท และเก็บไว้ในตู้เซฟได้ไม่เกิน  3 วัน

แต่กลับเก็บเงินไว้มากกว่า 3 วัน ไม่มีการตรวจนับของเงินบริจาคที่ได้รับมาในทันที เพื่อนำเข้าระบบบัญชีของโรงเรียนเพื่อลงทะเบียนคุมรายรับเงินได้สถานศึกษา และยังเก็บเงินไว้เป็นจำนวนมากถึงหลักล้าน โดยไม่สามารถรวจสอบยอดเงินที่แน่นอนได้ ดังนั้นการแต่งตั้งคณะกรรมการภาคีเครือข่ายดังกล่าวจึงเป็นการแต่งตั้งที่ไม่ชอบและไม่มีอำนาจในการระดมทรัพยากรเพื่อเก็บรักษาเงินไว้แทนโรงเรียนได้ และยังพบพิรุธว่า ระหว่างที่มีการเก็บเงินบริจาคไว้นั้น ปรากฎว่ามีคลิปวีดีโอที่ตัวแทนผู้ปกครองแอบบันทึกไว้ขณะที่มีการส่งมอบเงินบริจาคให้แก่จำเลยที่ 1,2 เผยแพร่ทางสื่อสารมวลชน

หลังจากจำเลยที่ 1 แถลงข่าวแล้ว จำเลยทั้งสามจึงรีบตามเจ้าหน้าที่การเงินมาออกใบเสร็จรับเงินย้อนหลังให้และในใบเสร็จไม่มีการระบุชื่อผู้บริจาค ซึ่งไม่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ แล้วรีบนำเงินบริจาคเข้าระบบบัญชีเงินฝากของโรงเรียน เป็นการกระทำเพื่อปกปิดความผิดของตน และความผิดสำเร็จลงแล้ว

ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1,2 จึงไม่อาจรับฟังได้ ส่วนความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจหรือจูงใจให้เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีของโรงเรียน กรอกข้อความลงในเอกสารใบเสร็จรับเงินอันเป็นเท็จ และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารอันเป็นเท็จและมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จนั้น

เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงิน ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการออกใบเสร็จรับเงิน ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้ร่วมลงลายมือชื่อ และจำเลยที่ 3 ก็ไม่มีหน้าที่โดยตรงและไม่มีหน้าที่โดยทั่วไปเกี่ยวกับการออกใบเสร็จรับเงิน และการข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้น

การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันให้เจ้าหน้าที่การเงินกรอกข้อความในใบเสร็จรับเงิน มิใช่การมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด และการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ได้บังคับข่มขืนใจเจ้าหน้าที่การเงิน เป็นการกระทำโดยสมัครใจเอง การกระทำของจำเลยที่ 1,2 จึงไม่เป็นความผิดตามข้อหาดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วย

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1,2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1,2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91

จำคุกจำเลยที่ 1,2 กระทงละ 5ปี รวม 6 กระทง เป็นจำคุกคนละ 30 ปี ทางนำสืบและคำรับของจำเลยที่ 1,2 เป็นประโยชน์แก่ การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1,2 กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 78จำคุกจำเลยที่ 1,2กระทงละ 3ปี4เดือน รวม 6กระทง คงจำคุกคนละ 18 ปี 24 เดือน

ให้จำเลยที่ 1,2 ร่วมกันชำระเงินหรือแทนกันชำระเงินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจ คำนวณเป็นราคาเงินได้เป็นเงิน 7 เเสนบาท โดยให้ริบเงินจำนวนดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นดิน ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ข้อหาอื่น และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ภายหลังฟังคำพิพากษาจำเลย1,2 ยื่นคำร้องขอประกันตัว ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง ส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งคาดว่าจะตกภายใน 1-3 วัน