- 25 เม.ย. 2567
สืบนครบาลวางแผนรวบ "หมอปลา" อ้างเป็นศัลยแพทย์ระบบสมองโรงพยาบาลดัง ตุ๋นเหยื่อสูญเงินหลักล้าน เปิดวีรกรรมสุดแสบ
มีรายงานว่า สืบนครบาลสามารถบุกจับกุมตัว "หมอปลา" อ้างเป็นศัลยแพทย์ระบบสมองตุ๋นบุคคลากรทางการแพทย์และข้าราชการ สูญเงินหลักล้าน ซึ่งตามนโยบายของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร., พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. , พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ให้ปราบปรามกลุ่มหรือบุคคลที่กระทำความผิดในทุกรูปแบบ
ที่สร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนผู้สุจริตจำนวนมาก โรงพยาบาลย่านพญาไท ตรวจสอบพบมีบุคคลแอบอ้างเป็นแพทย์ โดยใช้ชื่อว่าหมอปลา และมีการหลอกลวง ซึ่งผู้เสียหายต้องใช้เงินในการชดใช้ให้ญาติคนตายที่ ตนได้เป็นคนผ่าตัดแล้วเสียชีวิตลง ผู้เสียหายโอนรวมเป็นเงินมูลค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,283,620 บาท ซึ่งต่อมาผู้เสียหายพบว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับโรงพยาบาล
โดยพล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระทองออย รอง ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.อิสเรศ ปาลาพงศ์ รอง ผบก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.นิวัฒน์ พึ่งอุทัยศรีรอง ผบก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.อรรชวศิษฏ์ ศรีบุณยมานนทน์ ผกก.สส.3 บก.สส.บช.น. , พ.ต.ท.วิโรฒ จนุบุษย์, พ.ต.ท.นิธิ ปิยะพันธุ์ รอง ผกก.สส.3 บก.สส.บช.น. พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ สว.กก.สส.3 บก.สส.บช.น., ร.ต.อ.ปรินทร์ ส่วนบุญ รอง สว.กก.สส.3ฯ, ร.ต.อ.นิคม นาชัยภูมิรอง สว.กก.สส.3ฯ, ร.ต.อ.ชัยยุทธ ศักดิ์เพชร รอง สว.กก.สส.3ฯ กับพวก
จับกุมตัว น.ส.สุวรรณอำภา อินทยาวงค์ หรือ ปลา อายุ 35 ปี ที่อยู่ 62/310 ซอยเสรีไทย 72 แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลแขวงราชบุรี ที่ จ.52/2567 ลงวันที่ 18 เมษายน 2567 ความผิดฐาน "ฉ้อโกง และ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น"
ก่อนการจับกุม สืบนครบาลได้รับข้อมูลว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลย่านพญาไท พบผู้ที่ใช้ชื่อว่า สุวรรณอำภา อินทยาวงศ์ ปลอมบัตรประจำตัวบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลฯ ซึ่งบัตรประจำตัวที่ปลอมขึ้นมานั้น เป็นบัตรรุ่นเก่าของคณะฯ ซึ่งไม่ได้ใช้แล้วในปัจจุบัน โดยนำบัตรดังกล่าวไปใช้ในการแอบอ้างตนว่าเป็นศัลยแพทย์ระบบสมองของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลฯ
และนำไปหลอกลวงเอาเงินจากคนไข้และเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาลฯ หลายราย โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลฯ ดำเนินการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีบุคคลที่ใช้ชื่อดังกล่าวเป็นบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลฯ และไม่ใช่ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลฯ ซึ่งทำให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลฯ ได้รับความเสียหาย
ต่อมาเจ้าหน้าที่ สืบนครบาล ได้ตรวจสอบพบว่าบุคคลดังกล่าคือ น.ส.สุวรรณอำภา ซึ่งมีหมายจับติดตัวของศาลแขวงราชบุรี โดยพฤติการณ์คือ เมื่อประมาณเดือน มกราคม 2563 ขณะที่ผู้เสียหายใช้เฟซบุ๊กและได้มีบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชื่อ “ข้อมูล ส่วนตัว” ได้เพิ่มเพื่อนทางเฟซบุ๊กของผู้เสียหาย จากนั้นเฟซบุ๊กดังกล่าวได้ทักข้อความมาพูดคุยและได้แนะนำตัวว่าเป็นแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี ชื่อว่า น.ส.สุวรรณอำภา
ผู้เสียหายก็พูดคุยกันมาเรื่อยๆ จนได้คบหากัน โดย น.ส.สุวรรณอำภา จะเดินทางมาหาผู้เสียหายที่ อ.เมืองราชบุรี ทุกๆ สัปดาห์ ครั้งละประมาณ 2 วันแล้วก็จะนั่งรถโดยสารกลับไปกรุงเทพฯ โดยบอกผู้เสียหายว่าจะไปทำงานที่โรงพยาบาลดังกล่าว และบางสัปดาห์ผู้เสียหายจะขับรถไปรับที่หน้าโรงพยาบาล แล้วก็ไปส่งด้วย เป็นเช่นนี้อยู่ตลอดเวลาที่คบหากัน
ซึ่งต่อมาประมาณเดือนเมษายน 2566 ผู้เสียหายและ น.ส.สุวรรณอำภา ได้เลิกรากันแต่ปรากฏว่าช่วงก่อนที่จะเลิกกันนั้น น.ส.สุวรรณอำภา ได้มาขอให้ผู้เสียหายหาเงินจำนวนประมาณ 300,000 บาท อ้างกับผู้เสียหายต้องใช้เงินในการชดใช้ให้ญาติคนตายที่ ตนได้เป็นคนผ่าตัดแล้วเสียชีวิตลง ผู้เสียหายเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงจึงเอาเงินผู้เสียหายโอนให้ไปจำนวนหลายครั้ง รวมเป็นเงินมูลค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,283,620 บาท
ต่อมาผู้เสียหายพบว่า น.ส.สุวรรณอำภา ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับโรงพยาบาลรามาธิบดีและไม่ได้เป็นแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรามาธิบดีแต่อย่างใด ซึ่งต่อมาพนักงานสอบสวนได้ยื่นต่อศาลขออนุมัติหมายจับ และสืบนครบาลได้ติดตามจับกุมตัว ผู้ต้องหาขณะที่แต่งกายในชุดบุคคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลฯและมีชื่อของผู้ต้องหาเป็นภาษาอังกฤษที่หน้าอกเสื้อด้านซ้ายอีกด้วยได้ จากนั้นได้นำตัวส่ง สภ.เมืองราชบุรี ครับดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ขณะเดียวกันผู้ต้องหาให้การ รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดย จบ มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียน ในจังหวัดนครราชสีมา ไม่เคย ประวัติการตั้งโทษหรือเคย ถูกจับ มาก่อน
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น กล่าวว่า การหลอกลวงมีหลายรูปแบบ แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สายอาชีพต่างๆ จึงขอให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ และฝากเตือนประชาชนเกี่ยวกับการถูกหลอกลวง หลอกให้รัก ผ่านการพูดคุยในสื่อสังคมออนไลน์ในแอพพลิเคชั่นต่างๆ ถึงแม้จะมีการนัดพบเจอทำความรู้จักกันแล้ว แต่มิจฉาชีพยังสามารถมีวิธีการในการหลอกลวงปกปิดตัวตนที่แท้จริง หรืออวดอ้างหน้าที่การงานที่ดี ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและเสียทรัพย์สินมูลค่าสูงได้