- 25 เม.ย. 2567
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม อย. ทลายโรงงานผลิต สถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารผสมไซบูทรามีน มูลค่ากว่า 8 ล้านบาท
วันที่ 25 เมษายน 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการปฏิบัติกรณีทลายโรงงานผลิตสถานที่จำหน่าย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผสมไซบูทรามีน ตรวจยึด 34 รายการ มูลค่ากว่า 8 ล้านบาท
พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ทำการตรวจสอบผู้ผลิตและจำหน่าย “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ เมย่า อาร์เอ็ม (อย.74-1-01665-5-0013)”
โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวจากร้านค้าออนไลน์ ส่งตรวจวิเคราะห์ ณ สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลการตรวจวิเคราะห์พบ ไซบูทรามีน (Sibutramine) โดยสารดังกล่าวจัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดผล เสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต และ อย. ได้มีการประกาศแจ้งเตือนไปแล้วนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนจบทราบถึงผู้จัดจำหน่ายสถานที่ผลิตจนนำมาสู่การตรวจค้นในครั้งนี้
ต่อมาในวันที่ 23 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันนำหมายค้นของศาล เข้าตรวจค้นในพื้นที่ จ.ปทุมธานี และจ.สมุทรสาคร 3 จุด ดังนี้
1. สถานที่เกี่ยวกับผู้จำหน่ายในพื้นที่ หมู่ที่ 12 ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยมี น.ส.มณีรัตน์ (สงวนนามสกุล) เจ้าของแบรนด์เป็นผู้นำตรวจค้น ผลการตรวจค้น ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราเมย่า จำนวน 340 ซอง มูลค่าของกลางประมาณ 300,000 บาท
2. สถานที่เก็บ บรรจุ กระจายสินค้า ในพื้นที่ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยมี น.ส.มณีรัตน์ (สงวนนามสกุล) เป็นผู้นำตรวจค้น ผลการตรวจค้น พบ
2.1 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตรา เมย่า อาร์เอ็ม จำนวน 640 ซอง
2.2 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตรา พริ้ว อาร์เอ็ม จำนวน 330 ซอง
2.3 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มายา อาร์เอ็ม จำนวน 150 กล่อง
2.4 แคปซูลบรรจุแผงสีส้ม จำนวน 8,680 แผง
2.5 แคปซูลบรรจุแผงสีม่วง จำนวน 839 แผง
2.6 ซองบรรจุยาลูกกลอน เม็ดสีดำกลม บรรจุซองละ 7 เม็ด จำนวน 240 ซอง
2.7 ซองบรรจุยาลูกกลอนเม็ดสีดำบรรจุซองละ 20เม็ด จำนวน 25 ซอง
2.8 ซองซิปกระดาษบรรจุลูกกลอนสีดำกลม บรรจุซองละ 50 เม็ด จำนวน 6 ซอง
2.9 ซองซิปกระดาษบรรจุยาลูกกลอนสีดำบรรจุซองละ 100 เม็ด จำนวน 4 ซอง
2.10 ยาระบาย VIOLAX เลขทะเบียน 1 A 253/47 จำนวน 2 ขวด (2,000 เม็ด)
2.11 บิสซาโคดิ้ล เลขทะเบียน 1 A 2410/29 จำนวน 2 ขวด (2,000)
2.12 อิมัลแล็กซ์ บิซาโคดิล 1A 6/58 จำนวน 150 เม็ด
2.13 ซองผลิตภัณฑ์ maya สีส้ม จำนวน 54,600 ชิ้น
2.14 ซองผลิตภัณฑ์ maya สีม่วง จำนวน 50,400 ชิ้น
2.15 เม็ดแคปซูลสีส้ม จำนวน 14 กิโลกรัม 6 ขีด
2.16 กล่องลังกระดาษสีส้ม จำนวน 800 ชิ้น
2.17 กล่องลังกระดาษสีม่วง จำนวน 400 ชิ้น
2.18 ผงสีครีม 2 ถุง
2.19 แผงบริสเตอร์แกะแล้ว จำนวน 700 ชิ้น
2.20 กันชื้น จำนวน 100 ซอง
2.21 ขวดกระปุกยาสีขาวพร้อมฝา จำนวน 50 ขวด
2.22 ฉลากวิธีการทาน มายา อาร์เอ็ม จำนวน 40 แผ่น
2.23 ฉลากวิธีการทาน พริ้ว RM. จำนวน 100 แผ่น
2.24 ฉลาก “ทำไมกินอาหารเสริมเท่าไหร่ ก็ไม่ผล” จำนวน 100 แผ่น
2.25 ฉลาก "สวัสดีค่ลูกค้าที่น่ารัก" จำนวน 30 แผ่น
เจ้าหน้าที่ได้ทำการทดสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวัตถุดิบที่ตรวจพบ ด้วยชุดตรวจไซบูทรามีน ผลการทดสอบเบื้องต้นปรากฏผลเป็นบวก จึงได้ทำการตรวจยึดของกลาง และเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมอายัดเครื่องจักรจำนวน 2รายการ มูลค่าของกลางประมาณ 5,500,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
3. โรงงานผู้ผลิตในพื้นที่ ต.นาดี อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร โดยมี นายนิคม (สงวนนามสกุล) เจ้าของโรงงานเป็นผู้นำตรวจค้น ผลการตรวจค้น พบเป็นสถานที่ผลิตอาหารที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยเจ้าหน้าที่ตรวจสุขลักษณะสถานที่ผลิตอาหาร พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ GMP ตามที่กฎหมายกำหนด (ข้อบกพร่องรุนแรง เช่น ห้องบรรจุไม่มีการป้องกันการปนเปื้อน, ระหว่างกระบวนการผลิตไม่มีการป้องกันการปนเปื้อน เป็นต้น)
และขณะตรวจพบการบรรจุแคปซูลลงแผงบริสเตอร์ และพบแคปซูลสำหรับรอการบรรจุ และบรรจุภัณฑ์พร้อมฉลาก ด้านนอกสถานที่ผลิตเป็นโรงพิมพ์แผ่นฟรอยด์เพื่อใช้ปิดแผงบริสเตอร์ และพบกำแพงด้านที่ติดกับสถานที่ผลิตอาหาร มีการเจาะหน้าต่างทะลุหากัน บริเวณใกล้หน้าต่างที่เจาะทะลุหากันพบเครื่องบรรจุแคปซูล เครื่องขัดแคปซูล ผงวัตถุดิบ และแคปซูลเปล่า
เจ้าหน้าที่ได้ทดสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวัตถุดิบที่ตรวจพบด้วยชุดตรวจไซบูทรามีน ผลการทดสอบเบื้องต้นปรากฎผลเป็นบวกตำรวจจึงได้ทำการตรวจยึดของกลาง ดังนี้
3.1 ผลิตภัณฑ์บรรจุแคปซูลสีชมพู มุก จำนวน 985 แผง
3.2 ผลิตภัณฑ์บรรจุแคปซูลสีขาวขุ่น จำนวน 20 แผง
3.3 วัตถุดิบลักษณะเป็นผงสีเหลืองอ่อน จำนวน 1 ลัง
3.4 ผลิตภัณฑ์บรรจุแคปซูลสีครีม จำนวน 1 ถุง หนัก 0.99 กิโลกรัม
3.5 กล่องบรรจุผลิตภัณฑ์ จำนวน 407 ชิ้น
3.6 แผงบริสเตอร์ จำนวน 1 ม้วน
3.7 เครื่องบรรจุแคปซูล, เครื่องขัดแคปซูล, เครื่องบรรจุแผง
เจ้าหน้าที่ได้ทดสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวัตถุดิบที่ตรวจพบด้วยชุดตรวจไซบูทรามีน ผลการทดสอบเบื้องต้นปรากฎผลเป็นบวก และได้ทำการอายัดเครื่องจักรจำนวน 3 เครื่อง ไว้ ณ สถานที่เข้าตรวจตามหมายค้นข้างต้น ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป รวมมูลค่าของกลางประมาณ 2,200,000 บาท
สอบถาม น.ส. มณีรัตน์ฯ รับว่า ของกลางที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดทั้งหมด เป็นของตนเอง โดยก่อนหน้านี้ตนเองเป็นแม่ค้าขายสินค้าจำพวกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผ่านสื่อออนไลน์ ต่อมาอยากเป็นเจ้าของสินค้าเอง จึงได้ติดต่อสั่งซื้อผงซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีเสนอขายผ่านสื่อออนไลน์ โดยจากข้อมูลการส่งพบว่าผงวัตถุดิบ ถูกส่งมาจากจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือ ซึ่งอยู่ติดชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน
จากนั้นเมื่อได้รับผงวัตถุดิบแล้วได้ส่งผงไปลงแคปซูล โดยมีการส่งไปบรรจุแคปซูลในโรงงานซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี และ จ.สมุทรปราการ จากนั้นเมื่อบรรจุผงลงแคปซูลแล้ว ได้แจ้งให้ส่งไปลงแผงที่โรงงาน ในพื้นที่ ต.นาดี อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร เมื่อลงแผงเสร็จแล้ว ทางโรงงานจะส่งแคปซูลลงแผงแล้วส่งกลับมายังตน เพื่อนำบรรจุลงซอง บรรจุลงกล่อง ส่งจำหน่ายให้กับตัวแทน และลูกค้าที่สั่งซื้อทางออนไลน์ โดยสั่งผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ ที่โรงพิมพ์ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี จำหน่ายสินค้าในยี่ห้อนี้มาแล้วประมาณ 1 ปี
สอบถาม นาย นิคม (สงวนนามสกุล) รับว่า เป็นผู้จดเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ เมย่า จริง โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โรงงานตนเองรับแคปซูลที่ลูกค้าส่งมาให้บรรจุลงแผง โดยคิดราคาในการลงแผง แผงละ 10-15 บาท แล้วแต่จำนวนที่สั่งให้ลงแผง สำหรับผลิตภัณฑ์เมย่า ลูกค้าได้สั่งให้มีการลงแผงประมาณ 5 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดส่งไปเมื่อประมาณต้นเดือนเมษายน 2567 โดยทุกครั้งที่สั่งลงแผงจะส่งไปให้ลูกค้าทั้งหมด ไม่มีการเก็บไว้ที่โรงงาน สำหรับของกลางที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึด เป็นของลูกค้าที่จ้างให้ตนบรรจุแคปซูลลงแผง
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายยาเสพติด จำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 (ไซบูทรามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 149 วรรคสอง (1) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวน ขยายผล จนสามารถตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผิดกฎหมายได้จำนวนมาก
โดยการปฏิบัติการในครั้งนี้ อย. ได้เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักเป็นกรณีพิเศษ โดยร่วมกับตำรวจ บก. ปคบ.เฝ้าระวัง และแจ้งข่าวเตือนประชาชนให้ทราบข้อมูลอยู่เสมอเพื่อมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ จึงได้ขยายผลสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดจนมีการจับกุมดำเนินคดีผู้ลักลอบผลิตอาหารปลอม ผู้จำหน่ายรายใหญ่ที่กระทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น ทานแล้วลดน้ำหนักเห็นผลไว เห็นผลจริง ปลอดภัย การันตี ไม่มีผลข้างเคียง เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างใช้ลดน้ำหนักเหล่านี้มักพบว่า มีส่วนผสมของไซบูทรามีนหรือยาแผนปัจจุบัน ผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังเสียสุขภาพจากผลข้างเคียงของยาและอาจทำให้เสียชีวิตได้
ขอย้ำเตือนประชาชนว่าการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทางสื่อออนไลน์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงมารับประทานเพื่อหวังผลตามกล่าวอ้างเสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และ อย.ไม่อนุญาตการโฆษณาที่อวดอ้าง เป็นเท็จ หลอกลวงและเกินจริง หากพบจะดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการโฆษณาเกินจริงทุกกรณี ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: [email protected] Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ การเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ควบคุมน้ำหนักควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ เช่นอาหารเสริม อาจมีผู้ประกอบการที่ลักลอบใส่สารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แล้วโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคว่าสามารถช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ผู้บริโภคไปหลงเชื่อโฆษณาหลอกลวงซื้อมารับประทาน แล้วได้รับผลข้างเคียงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะสุขภาพที่ดีต้องประกอบด้วยการรับประทานอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และขอเน้นย้ำว่าไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ผู้ที่ลักลอบนำมาผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา