- 11 พ.ค. 2567
แจ้งเตือน พายุสุริยะที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปีจะมาเยือนโลกสุดสัปดาห์นี้ แต่ไม่เป็นอันตราย ผู้สังเกตในละติจูดสูงเตรียมพบกับออโรร่า
วันที่ 1 พ.ค. เพจเฟซบุ๊ก NARIT แจ้งเตือน พายุสุริยะที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปีจะมาเยือนโลกสุดสัปดาห์นี้ แต่ไม่เป็นอันตราย ผู้สังเกตในละติจูดสูงเตรียมพบกับออโรร่า
NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหรัฐที่ทำหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังพายุสุริยะ ได้รายงานการค้นพบพายุสุริยะระดับ G5 ซึ่งเป็นพายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี กำลังจะมาเยือนโลกในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เบื้องต้นเตือนถึงผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่อดาวเทียม และกริดไฟฟ้าในประเทศแถบขั้วโลก แต่ไม่ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์แต่อย่างใด ผู้สังเกตในแถบละติจูดสูงเตรียมพบกับแสงออโรร่าได้ตลอดสุดสัปดาห์นี้
วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2024 NOAA ได้แจ้งเตือนถึงการตรวจพบพายุสุริยะที่มีความรุนแรงระดับ G4 ต่อมาได้ยกระดับพายุขึ้นเป็นระดับ G5 ซึ่งเป็นระดับความรุนแรงของพายุสุริยะที่สูงที่สุด
พายุสุริยะนั้นเกิดขึ้นจากการปลดปล่อยมวลจากดวงอาทิตย์ (Coronal Mass Ejection: CME) มวลจากดวงอาทิตย์เหล่านี้เกิดขึ้นจากอนุภาคมีประจุ ซึ่งเมื่ออนุภาคมีประจุเหล่านี้เกิดการเคลื่อนที่ อาจจะส่งผลรบกวน และเบี่ยงเบนสนามแม่เหล็กของโลก เมื่อสนามแม่เหล็กของโลกเกิดการรบกวน จะทำให้อนุภาคบางส่วนสามารถเข้ามายังชั้นบรรยากาศด้านบนของโลกได้ เกิดเป็นแสงเหนือ-แสงใต้ ที่เราเรียกกันว่า "แสงออโรร่า"
การวัดระดับความรุนแรงของพายุสุริยะนั้นสามารถวัดกันได้หลายวิธี ตั้งแต่ Kp index ไปจนถึง G-scale ซึ่งเป็นการใช้วัดระดับพายุสุริยะที่มีความรุนแรงค่อนข้างมาก
ตั้งแต่ G1 จนถึง G5 ซึ่งพายุที่กำลังมาถึงโลกในช่วงสุดสัปดาห์นี้ จัดเป็นพายุในระดับ G5 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุด เทียบเท่ากับ Kp9 โดยครั้งสุดท้ายที่มีการแจ้งเตือนพายุสุริยะ
ในระดับ G5 นั้นเกิดขึ้นในช่วงวันฮาโลวีนของปี 2003 จึงทำให้นี่เป็นพายุสุริยะที่มีระดับรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี
โดยปกติแล้ว การปลดปล่อยมวลสุริยะของดวงอาทิตย์นั้น มักจะเกิดขึ้นจากบริเวณผิวของดวงอาทิตย์ที่มีสนามแม่เหล็กแปรปรวน เป็นเหตุให้พลาสมาจากดวงอาทิตย์สามารถหลุดและปลดปล่อยออกมาได้ จากบนโลกเราสามารถสังเกตเห็นบริเวณที่มีสนามแม่เหล็กแปรปรวนนี้ ในรูปของจุดดับบนดวงอาทิตย์ ซึ่งในช่วงปีนี้นั้นสอดคล้องกับช่วง solar maximum ในวัฏจักร 11 ปีของดวงอาทิตย์ ที่จะสามารถพบจุดดับได้บ่อยที่สุดพอดี ปรากฏการณ์พายุสุริยะนี้จึงเป็นพฤติกรรมปรกติของดวงอาทิตย์ที่สามารถพบเห็นได้ และอาจจะมีพายุสุริยะอื่นๆ ตามมาอีกในช่วง solar maximum ที่เรากำลังอยู่นี้
เมื่อพายุสุริยะมาถึงโลก อนุภาคที่มีประจุนี้ส่วนมากจะถูกเบี่ยงเบนออกไปโดยสนามแม่เหล็กของโลกที่คอยปกป้องโลกเอาไว้ มีเพียงส่วนน้อยที่สามารถเลี้ยวไปตามเส้นแรงแม่เหล็กโลกกระทบเข้ากับชั้นบนของบรรยากาศเกิดเป็นแสงออโรร่า ในกรณีที่มีการปลดปล่อยมวลเป็นจำนวนมาก เช่นในพายุสุริยะที่มีความรุนแรง พลาสม่าในมวลสุริยะนั้นอาจจะมีอันตรากิริยากับสนามแม่เหล็กของโลก ทำให้สนามแม่เหล็กของโลกเบี่ยงเบนไป จึงอาจทำให้อนุภาคสามารถกระทบกับชั้นบรรยากาศเกิดเป็นแสงออโรร่าในพื้นที่ละติจูดที่ต่ำกว่าปรกติได้ จึงอาจทำให้เกิดแสงออโรร่าเป็นวงที่กว้างกว่าปรกติ อย่างไรก็ตาม ความสูงของบริเวณที่เกิดออโรร่านั้นก็ยังนับเป็นความสูงที่สูงกว่าที่มนุษย์อาศัยอยู่เป็นอย่างมากจึงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม พายุสุริยะอาจจะส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อาจจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสนามไฟฟ้า เช่น ดาวเทียมสื่อสารที่โคจรอยู่เหนือชั้นบรรยากาศของโลก และในบางครั้งอาจจะส่งผลกระทบต่อกริดจ่ายไฟฟ้าภาคพื้นโลก สำหรับประเทศที่อยู่ในละติจูดสูง เช่นพายุสุริยะ G5 ที่เกิดขึ้นในปี 2003 นั้นส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับชั่วคราวในประเทศสวีเดน และสร้างความเสียหายให้กับหม้อแปลงไฟฟ้าบางส่วนในอาฟริกาใต้
ทั้งนี้ โดยปกติแล้วดาวเทียมสื่อสารจะมีมาตรการการป้องกันพายุสุริยะ เช่น การหันทิศทางหรือปิดอุปกรณ์ที่อาจจะมีความเสี่ยงต่อการเสียหาย จึงสามารถลดการรบกวนที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบสื่อสารได้เป็นอย่างมาก และปัจจุบันระบบไฟฟ้านั้นก็มีมาตรการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี #สำหรับประเทศไทย ด้วยตำแหน่งที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรจึงทำให้ประเทศไทยของเราถูกปกป้องโดยสนามแม่เหล็กโลกเป็นอย่างดี พายุสุริยะในครั้งนี้จึงแทบไม่มีผลกระทบอย่างใด อย่างไรก็ตาม คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบละติจูดสูงอาจจะสามารถสังเกตการณ์แสงออโรร่าได้ตลอดช่วงสุดสัปดาห์นี้
นอกจากนี้ ด้วยตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว สดร. จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัย ปรากฏการณ์และผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์
ผลิตอุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศ ตรวจวัดรังสีคอสมิก และติดตามผลกระทบที่มีต่อโลก ส่งไปกับยานฉ๋างเอ๋อ 7 ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ(International Lunar Research Station) เพื่อศึกษาปรากฏการณ์ และผลกระทบ รวมถึงพัฒนาแบบจำลองเพื่อนำมาใช้แจ้งเตือนต่อสาธารณชนได้อย่างแม่นยำในอนาคต
นับเป็นการวิจัยเพื่อขยายขอบเขตความรู้ชั้นแนวหน้า ทางด้านสภาพอวกาศ (space weather) ในระดับโลกต่อไป ถือเป็นการดำเนินการตามพันธกิจของ สดร ในการสร้างความร่วมมือและความสามารถในการวิจัยระดับโลกของประเทศไทยต่อไป
ขอบคุณเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ