- 21 พ.ค. 2567
"เจ้าบ้าน กับ เจ้าของบ้าน" ต่างกันอย่างไร เรื่องบ้านๆ ที่ควรรู้ รู้ไว้ก่อนเสียสิทธิ์ วันนี้เราจะมาสรุปให้ฟัง ว่าใครมีสิทธิ์เหนือกว่ากัน และสรุปบ้านเป็นของใคร
"เจ้าบ้าน" กับ "เจ้าของบ้าน" คุณเคยสงสัยกันไหมว่าทำไมถึงมี 2 ชื่อ และแต่ละชื่อมีความแตกต่าง หรือ มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน ใครมีสิทธิเหนือกว่ากัน คนมีบ้านต้องรู้ไว้ ก่อนเสียสิทธิ์ไม่รู้ตัว เรื่องบ้านๆ ที่ควรรู้ เจ้าบ้าน กับ เจ้าของบ้าน ต่างกันอย่างไร
ความหมาย เจ้าบ้าน
มาดูความหมายเจ้าบ้านกันก่อน หมายถึง ผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครองบ้านในฐานะที่เป็นเจ้าของ ผู้เช่า และอื่นๆ โดยหากในทะเบียนบ้านไม่มีชื่อเจ้าบ้าน หรือผู้ที่ถูกแต่งตั้งเป็นเจ้าบ้าน เกิดเสียชีวิต ผู้มีหน้าที่ดูแลบ้านสามารถมาเป็นเจ้าบ้านแทนได้
ความหมาย เจ้าของบ้าน
ก็คือ หมายถึง เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่มีชื่อในโฉนดที่ดิน สัญญาซื้อขาย
อำนาจหน้าที่ระหว่าง หน้าที่เจ้าบ้าน VS เจ้าของบ้าน
เจ้าบ้าน มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 อาทิ แจ้งเกิด-ตาย ย้ายที่อยู่ ขอเลขที่บ้าน หรือเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับบ้าน ซึ่งสามารถสรุปหน้าที่ของเจ้าบ้านได้ดังต่อไปนี้
- แจ้งคนเกิดในบ้าน
- แจ้งคนตายในบ้าน
- แจ้งคนย้ายเข้า-ย้ายออก
- สร้างบ้านใหม่หรือรื้อถอน
- ขอเลขที่บ้าน
เจ้าของบ้าน มีหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นผู้มีสิทธิ์ในการขาย โอน บ้านและที่ดินหลังนั้น ทั้งนี้สามารถโอนถ่ายให้ลูกหลานเป็นเจ้าของบ้านได้
สรุป : ความแตกต่างของ “เจ้าบ้าน” และ “เจ้าของบ้าน” ก็คือ อำนาจการครอบครองตามที่กฎหมายกำหนดไว้คนละฉบับ “เจ้าบ้าน” จะเป็นผู้ครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือมิใช่เจ้าของเจ้าของบ้านก็ได้ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทะเบียนราษฎรเท่านั้น และมิได้ทำให้เกิดสิทธิในการครอบครอง “บ้าน” ตามกฎหมายอื่น
ส่วน “เจ้าของบ้าน” เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือเจ้าของบ้าน ซึ่งกฎหมายการทะเบียนราษฎรไม่ได้บังคับว่าจะต้องเป็นเจ้าบ้าน และการที่ให้บุคคลอื่นทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านก็มิได้ทำให้สิทธิการครอบครองบ้านเสียไป ในกรณีที่เจ้าของบ้านไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน สามารถให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าบ้านแทนตนเองได้ นั่นเองค่ะ
ขอบคุณ ที่มาจาก : องค์การบริหารส่วนตำบลสร้างมิ่ง อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร