"อ.เจษฎ์" เผยชัด เห็ดเผาะ ไม่จำเป็นต้องเผาป่า สามารถเพาะเลี้ยงได้

อ.เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เผย เห็ดเผาะ เพาะเลี้ยงได้ ไม่จำเป็นต้อง เผาป่าหาเห็ดอย่างเดียว

อ.เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า 

"เห็ดเผาะ เพาะเลี้ยงได้ครับ .. ไม่จำเป็นต้อง เผาป่าหาเห็ดกันอย่างเดียว"

เห็ดเผาะ เพาะได้ง่ายกว่าที่คิดครับ หลักการคือ เส้นใยของเห็ดเผาะ จะอาศัยอยู่กับรากพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้วงศ์ไม้ยาง จึงสามารถเพาะได้ด้วยการนำเชื้อเห็ดเผาะ ไปใส่ให้กับรากของพืชอาศัย เพื่อให้เชื้อเห็ดเผาะสามารถเจริญไปอยู่ที่รากพืชได้

"อ.เจษฎ์" เผยชัด เห็ดเผาะ ไม่จำเป็นต้องเผาป่า สามารถเพาะเลี้ยงได้

เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการสร้างดอกเห็ดเผาะ จะมีเห็ดเผาะเกิดขึ้นบริเวณใกล้กับต้นไม้ ... ถ้าเป็นกล้าไม้ อาจจะใช้เวลาประมาณ 3 ปีขึ้นไป ... แต่ในต้นไม้ใหญ่ เห็ดเผาะอาจจะเกิดได้ในฤดูถัดไป ยิ่งต้นไม้ที่เป็นพืชอาศัยของเห็ดเผาะสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่เท่าใด เห็ดเผาะที่เกิดขึ้นได้เร็วและมีจำนวนมาก

การเตรียมหัวเชื้อเห็ดเผาะ

สามารถแบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่

1. หัวเชื้อดอกและสปอร์ของเห็ดเผาะ : ดอกเห็ดเผาะจะสร้างสปอร์อยู่ภายในดอกเห็ด เมื่อแก่สปอร์จะมีลักษณะเป็นผงสีดำ สามารถงอกเจริญเป็นเส้นใยได้ และสามารถเอาดอกเห็ดเผาะแก่เหล่านี้ ซึ่งด้านในเปลี่ยนเป็นสีดำ มาสับหรือปั่นรวมกับน้ำ จะทำให้ได้ หัวเชื้อดอกเห็ดและสปอร์พร้อมใช้ทันที

นอกจากนี้ เราสามารถทำแห้งดอกเห็ดเผาะ โดยการนำเห็ดเผาะที่ไม่ได้ล้างน้ำ ไปฝังกับทรายที่ตากแดดมาจนแห้ง (เพื่อฆ่าเชื้อโรค และกำจัดความชื้น) ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เก็บรักษาสปอร์ที่อยู่ภายในดอกเห็ดได้เป็นระยะเวลาหลายเดือน เมื่อจะนำมาใช้ ให้นำดอกเห็ดแห้งออกจากทราย แช่น้ำไว้ข้ามคืน จากนั้นนำดอกเห็ดมาสับหรือปั่นกับน้ำ จะทำให้ได้หัวเชื้อสปอร์เช่นกัน

2. หัวเชื้อเส้นใยของเห็ดเผาะ : หัวเชื้อแบบนี้ คือ หัวเชื้อที่เกิดจากการนำเนื้อเยื่อดอกเห็ดเผาะ มาเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเส้นใยเห็ดในจานเพาะที่ปลอดเชื้อ เมื่อเส้นใยดอกเห็ดเผาะเจริญเติบโตจนเกือบเต็มจานเพาะ จะนำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดประมาณ 1x1 ตร.ซม. แล้วนำไปผสมกับน้ำ

การใส่หัวเชื้อเห็ดเผาะให้กับรากพืชอาศัย

สามารถใส่ได้ 2 วิธี ได้แก่

1. การใส่หัวเชื้อเห็ดเผาะ #ให้กับต้นกล้าพืชอาศัย ในถุงเพาะ

ให้ใช้ไม้ปลายแหลม จิ้มดินให้เป็นรู ใกล้โคนต้นกล้า จากนั้นรดหัวเชื้อลงไป ให้หัวเชื้อเห็ดเผาะมีโอกาสสัมผัสหรือเจริญใกล้รากมากที่สุด สามารถใส่หัวเชื้อให้กับกล้าไม้ได้ตั้งแต่อายุ 1 เดือนขึ้นไป และเมื่อย้ายปลูก สามารถใส่หัวเชื้อลงในก้นหลุมในขณะทำการย้ายปลูก

หลังจากย้ายกล้าไม้ลงในพื้นที่อย่างน้อย 3 ปี จึงจะมีเห็ดเผาะเกิดขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและความสมบูรณ์ของกล้าไม้

2. การใส่หัวเชื้อเห็ดเผาะ #ให้กับต้นไม้ใหญ่ ที่เป็นพืชอาศัย

สำหรับต้นไม้ที่เป็นพืชอาศัยที่มีอายุหลายปีในพื้นที่บางพื้นที่หรือในป่าเสื่อมโทรม ที่อาจจะมีเห็ดเผาะเกิดขึ้นน้อยหรือไม่เคยมีมาก่อน ให้ขุดดินลึกประมาณ 5-10 ซม. ที่บริเวณทรงพุ่มของต้นไม้ อาจจะขุดเป็นแนวยาวตามทรงพุ่ม หรือขุดเป็นหลุมกระจาย รอบทรงพุ่ม เนื่องจากราไมคอร์ไรซาจะเข้าไปเจริญอยู่บริเวณรากหาอาหารของพืชอาศัย ซึ่งมีอยู่มากบริเวณแนวทรงพุ่ม นำหัวเชื้อใส่ลงไป แล้วกลบดินให้เรียบร้อย

ถ้าหากต้นไม้มีความสมบูรณ์มาก จะมีโอกาสได้เห็ดเผาะเร็วขึ้นในฤดูกาลถัดไป และยังเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ อีกครั้ง

การใส่เชื้อเห็ดเผาะทั้ง 2 วิธีนี้ ให้หมั่นใส่หัวเชื้อเห็ดเผาะบ่อยๆ เท่าที่จะทำได้ เช่น ทุก 2 เดือน เพื่อเพิ่มโอกาสให้เห็ดเผาะสามารถเจริญไปอยู่ที่รากพืชอาศัยและเพิ่มจำนวนได้เรื่อยๆ

เพียงเท่านี้ เราจะมีแหล่งเห็ดเผาะไว้ในที่ที่เราต้องการ

"อ.เจษฎ์" เผยชัด เห็ดเผาะ ไม่จำเป็นต้องเผาป่า สามารถเพาะเลี้ยงได้

------------------

จาก หนังสือ "แนวทางการเพาะเห็ดเผาะ เห็ดโคน เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันอย่างยั่งยืน"

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิตรตรา เพียภูเขียว ภาควิชาพฤกษศาสตร์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายมัญญา นาคพน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

"อ.เจษฎ์" เผยชัด เห็ดเผาะ ไม่จำเป็นต้องเผาป่า สามารถเพาะเลี้ยงได้