- 20 มิ.ย. 2567
"เบี้ยยังชีพคนชราภาพ" ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ต้องส่งประกันสังคมกี่ปี ถึงจะได้ เงินบำเหน็จหรือบำนาญ มีคำตอบ
เบี้ยยังชีพคนชราภาพ สำหรับ ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 มีเกณฑ์อย่างไรบ้าง นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงปัจจุบันภาครัฐได้ให้ความสำคัญด้านสวัสดิการสังคมในวัยเกษียณให้แก่ประชาชนในหลายรูปแบบ เช่น ระบบประกันสังคม ระบบบำนาญสำหรับข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมไปถึงเบี้ยยังชีพคนชราภาพ เพื่อช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณอย่างยั่งยืน สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ในระบบประกันสังคมจะได้รับการดูแลด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากสำนักงานประกันสังคม รวมถึงสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ โดยมีเงื่อนไขการเกิดสิทธิ เมื่อผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และได้ลาออกจากงาน สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนหรือเสียชีวิต ส่วนจะได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญกรณีชราภาพนั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน โดยแบ่งการขอรับประโยชน์ทดแทนออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1. ประโยชน์ทดแทนกรณีบำนาญชราภาพ (จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต)
- ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะได้รับบำนาญชราภาพในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
- ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
- ผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับจากเดือนที่มีสิทธิได้รับบำนาญให้จ่ายบำเหน็จแก่ทายาท เป็นจำนวนเท่ากับเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตายคูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับบำนาญถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน
2. ประโยชน์ทดแทนกรณีบำเหน็จชราภาพ (จ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียว)
- ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่จ่ายในกรณีชราภาพ เฉพาะส่วนของผู้ประกันตนเพียงฝ่ายเดียว
- ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า จะเห็นได้ว่าการจ่ายเงินสมทบรายเดือนกับกองทุนประกันสังคมนั้นมิได้สูญเปล่า เพราะนอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ครอบคลุมทุกช่วงชีวิตเมื่อถึงวัยเกษียณ ยังอุ่นใจได้ว่ามีเงินออมชราภาพไว้เป็นหลักประกัน ทั้งนี้ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิและเงินชราภาพ หรือมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลประกันสังคม หมายเลขโทรศัพท์ 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ