- 25 ก.ค. 2567
ด่วน เปิดพิกัด 10 จังหวัด "กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย" เตือนเฝ้าระวังน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาท่วมอย่างใกล้ชิด
วันที่ 25 ก.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊กกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดข้อมูลเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยระบุว่า เน้นย้ำ 10 จังหวัด และ กทม. เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. 67 เวลา 10.30 น. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสาน 10 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร
- อุทัยธานี
- ชัยนาท
- สิงห์บุรี
- อ่างทอง
- สุพรรณบุรี
- พระนครศรีอยุธยา
- ลพบุรี
- ปทุมธานี
- นนทบุรี
- สมุทรปราการ
ให้เฝ้าระวังและติดตามระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน และผู้ประกอบกิจการ รวมถึงประชาขนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่าในช่วงวันที่ 24-31 กรกฎาคม 2567 ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และจากการคาดการณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้า 1–3 วันข้างหน้า พบว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
โดยวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ที่สถานี C.2 อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 1,200–1,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และลำน้ำสาขาประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณระหว่าง 1,500–1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบกรมชลประทาน 2 ฝั่ง ในอัตรา 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 800–1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.80-1.10 เมตร ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้ประสานจังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 10 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยเป็นระยะ พร้อมทั้งแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ผู้ประกอบการ และประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ และขอให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการและปฏิบัติตามคำแนะนำในการเตรียมพร้อมรับมืออย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ประชาชนสามารถติดตามรายงานคาดการณ์และแจ้งเตือนภัยได้ทางเฟซบุ๊ก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และ X @DDPMNews รวมถึงติดตามประกาศแจ้งเตือนภัยได้ทางแอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” โดยหากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อนผ่าน LINE ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที