- 31 ก.ค. 2567
ไวรัส RSV เผยวิธีป้องกันและรักษาโดย "หมอยง" ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไวรัส RSV กำลังระบาดในบ้านเราตอนนี้ ล่าสุด "หมอยง" ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า
RSV ฤดูกาลของ RSV ในฤดูฝนช่วงนี้ ถึงแม้ว่า โควิด 19 มีแนวโน้มลดลง แต่เป็นฤดูกาลของ RSV
RSV จะพบได้มากตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ดังแสดงในรูป
RSV พบได้ทุกอายุ แต่จะพบมากใน เด็กเล็กต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ ดังแสดงในรูป
โรคนี้เป็นแล้วเป็นอีกได้ ในประเทศไทยยังไม่มี วัคซีน ในการป้องกัน การรักษาจะรักษาตามอาการ
การป้องกัน สามารถทำได้เช่นเดียวกับโรคโควิด 19 และทางเดินหายใจทั่วไป เช่นล้างมือบ่อยๆให้ถูกวิธี โดยเฉพาะเด็กนักเรียนหรืออนุบาล สถานเลี้ยงเด็ก ไม่ใช้ของใช้ร่วมกัน ของเล่นในสถานเลี้ยงเด็กต้องหมั่นทำความสะอาด รับประทานอาหารที่สุกสะอาด ดูแลเรื่องสุขอนามัย ผู้ที่ป่วยหรือไม่สบาย ควรใส่หน้ากากอนามัย และหยุดอยู่บ้าน
RSV เป็นแล้วเป็นอีกได้ ทั้งนี้เพราะภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อ ไม่สามารถที่จะป้องกันการติดเชื้อใหม่ได้ เช่นเดียวกับโรคโควิด 19
ภูมิต้านทานที่มีอยู่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคลง ดังนั้นโรคนี้จึงมีความรุนแรง ในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด และได้รับภูมิต้านทานส่งต่อจากมารดาในระดับต่ำ ในเด็กที่คลอดปกติ จะได้รับภูมิต้านทานส่งต่อจากมารดา และภูมินี้จะลดลงอย่างรวดเร็วจนเหลือระดับต่ำมากเมื่อประมาณ 6-7 เดือน หลังจากนั้นเด็กก็จะมีโอกาสติดเชื้อได้ การติดเชื้อครั้งแรกหรือเกิดขึ้นในขวบปีแรกบางคน จะมีอาการเด่นชัด ค่อนข้างมาก และเมื่อติดเชื้อไปหลายๆครั้ง ความรุนแรงมีแนวโน้มที่จะลดลง เช่นในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ก็มีการติดเชื้อซ้ำได้บ่อยๆ แต่เราไม่ค่อยได้ตรวจกัน ในเด็กที่โตถึง 5 ปีหลายคนจะเป็น RSV ถึง 3 หรือ 4 ครั้งมาแล้ว
ความรุนแรงของโรค ในกลุ่มเปราะบาง คือผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ถึงแม้ในกลุ่มนี้จะเคยเป็น RSV มาแล้วหลายครั้งก็ตาม
การรักษา เป็นการรักษาตามอาการ ปัจจุบันไม่มียาต้านไวรัสที่จำเพาะสำหรับ RSV ไม่มียาที่กินแล้วป้องกันไม่ให้เกิดอาการหลัง RSV
การป้องกันด้วยภูมิต้านทานสำเร็จ หรือที่เรียกว่า antibody ที่ใช้อยู่จะเป็น monoclonal antibody จะมีข้อบ่งชี้ให้ใช้ในกลุ่มเด็กคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มีโรคประจำตัวและเปราะบาง จะต้องให้ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นคงอยู่ตลอดระยะเวลา 5 เดือนในฤดูกาลการระบาดคือตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงพฤศจิกายน ยามีราคาแพงมาก และที่ใช้อยู่ภูมิต้านทานคงอยู่ระยะสั้นต้องให้ทุกเดือนตลอดระยะเวลา 5 เดือน จะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงมาก
สำหรับผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ในต่างประเทศมีวัคซิน ใช้ในการป้องกัน และได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ในเดือน พ.ค. ส่วนภูมิต้านทานสำเร็จรูปที่กันได้ระยะยาว 4-6 เดือน กำลังขึ้นทะเบียนในประเทศไทย แต่ก็คงจะมีราคาที่สูงมาก