ถึงบางอ้อ "รอยเท้าไดโนเสาร์" ยังอยู่ได้ไง ทั้ง ๆ ที่ผ่านมานับร้อยล้านปี

รอยเท้าไดโนเสาร์เกิดขึ้นได้อย่างไร กรมทรัพยากรธรณี อธิบายเห็นภาพ เข้าใจแล้ว ผ่านมานับร้อยล้านปี มันถึงยังคงอยู่

รอยเท้าไดโนเสาร์เกิดขึ้นได้อย่างไร เรื่องน้ถูกอธิบายโดยเพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรธรณี ที่ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุว่า 

ธรณีวิทยาน่ารู้: ไดโนเสาร์ย่ำเดินอย่างไรให้รอยตีนคงอยู่นับร้อยล้านปี

หลายคนคงคุ้นเคยกับการลองเดินเหยียบตามริมหาดทรายเพื่อให้เกิดรอยเท้าทิ้งไว้ แต่ไม่นานเมื่อคลื่นซัดเข้ามารอยนั้นก็เลือนหายไป แล้วรอยตีนของสิ่งมีชีวิตในอดีตละทำไมถึงคงสภาพอยู่นับร้อยล้านปีได้ หรือต้องตัวหนักกี่ตันถึงจะสร้างรอยบนหินแข็งได้

ถึงบางอ้อ "รอยเท้าไดโนเสาร์" ยังอยู่ได้ไง ทั้ง ๆ ที่ผ่านมานับร้อยล้านปี

"รอยตีน" (Footprint) ศัพท์ธรณีวิทยาที่หมายถึงรอยเหยีบประทับของสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ไดโนเสาร์ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ผ่านกระบวนการเกิดร่องรอยซากดึกดำบรรพ์หรือ "รอยตีน" ที่กินระยะเวลายาวนานเช่นเดียวกับการกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์แบบอื่น

แน่นอนว่าไม่ใช่ที่จู่ๆ สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิสหรือไดโนเสาร์กินเนื้อตัวอื่นๆ จะเดินล่าเหยื่อแล้วเหยียบลงหินจนเกิดรอยตีนในทันทีทันใด แต่กระบวนการนี้ต้องอาศัยเวลาที่เหมาะเจาะที่เมื่อหลายล้านปีก่อนมีสิ่งมีชีวิตเดินย่ำตามริมทางน้ำที่มีตะกอนดินอ่อนนุ่ม และใช้เวลาให้รอยพิมพ์แห้งและแข็งตัวก่อนที่ตะกอนชุดใหม่จะมาปิดทับอย่างนุ่มนวลเพื่อไม่ให้รอยตีนถูกทำลายไปเสียก่อน

การเกิดรอยตีนไดโนเสาร์

1. ร่องรอยถูกประทับบนตะกอนที่เปียกชื้น และไม่ถูกทำลายหรือลบเลือน

2. เมื่อสภาวะอากาศแห้งขึ้นทำให้ตะกอนที่มีร่องรอยประทับรอยตีนแข็งตัวและคงรูปตามเดิมไว้

3. ตามริมทางน้ำธรรมชาติจะสะสมตะกอนอย่างช้าๆ และทับถมรอยตีนที่แข็งตัวแล้วโดยไม่ทำลายร่องรอยเดิม ก่อนจะสะสมตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่อเวลาผ่านไปมีตะกอนพัดพามาทับถมปิดรอยเหล่านี้แต่ละปี ทับถมเป็นชั้น ๆ และแข็งตัวจนกลายเป็นหินตะกอนในหลายล้านปีต่อมา

4. เวลาต่อมา กระบวนการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกทำให้ชั้นหินตะกอนเหล่านี้ถูกยกตัวขึ้นมาเป็นภูเขาสูง และถูกกัดเซาะโดยฝนและทางน้ำในปัจจุบัน บ้างก็กัดเซาะทำลายตะกอนที่ปิดทับเป็นรอยหล่อ (cast) ออกไป จน ทำให้ชั้นหินที่มีรอยพิมพ์ (mold) ที่มีรอยตีนไดเสาร์ประทับอยู่เผยขึ้นมาบนผิวโลกให้เห็นในยุคปัจจุบัน

ถึงบางอ้อ "รอยเท้าไดโนเสาร์" ยังอยู่ได้ไง ทั้ง ๆ ที่ผ่านมานับร้อยล้านปี

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นรอยไหนคือ "รอยตีน"

รอยตีนไดโนเสาร์จะปรากฏลักษณะนิ้วชัดเจนและมีส่วนท้ายเป็นส้น ซึ่งนักธรณีวิทยาจะเปรียบเทียบรอยตีนที่บริเวณปลายนิ้ว หากมีลักษณะแหลมคมเหมือนกรงเล็บ และมีปลายนิ้วแยกออกเป็นนิ้วชัดเจนก็คาดว่าเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์กินเนื้อ

ซากดึกดำบรรพ์ประเภทรอยชีวินอย่างรอยตีนเป็นส่วนหนึ่งของการ คำนวนรูปร่างกายวิภาค และการศึกษา”พฤติกรรม”ของสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ทั้งยังบอกได้ถึงพฤติกรรมส่วนตัว เช่น จังหวะก้าวเดิน ระยะห่าง-ความเร็ว ลากหางหรือยกหาง พฤติกรรมกลุ่มอย่าง การอยู่อาศัย การหาอาหาร อยู่กันเป็นฝูง การล่าเหยื่อ หรือแม้กระทั่งการบอกตำแหน่งทางภูมิศาสตร์แหล่งที่อยู่อาศัยในอดีต

เพื่อให้เกิดการคุ้มครอง อนุรักษ์ และพัฒนาแนวทางการอนุรักษ์ ซากดึกดำบรรพ์และแหล่งซากดึกดำบรรพ์ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 กรมทรัพยากรธรณีมีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการบริหารจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี ในด้านการพัฒนาเผยแพร่องค์ความรู้และบริการข้อมูลวิชาการด้านธรณีวิทยา ทรัพยากรธรณีชากดึกดำบรรพ์ อนุรักษ์ตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์รวมทั้งสำรวจรายละเอียดด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ต่อไป

ข้อมูลโดย กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ และสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2

ถึงบางอ้อ "รอยเท้าไดโนเสาร์" ยังอยู่ได้ไง ทั้ง ๆ ที่ผ่านมานับร้อยล้านปี