- 22 ส.ค. 2567
"น้ำท่วมเชียงราย" ล่าสุด ระดับน้ำแม่สายเข้าสู่ขั้นวิกฤต น้ำท่วมตลาดสายลมจอย จากเหตุฝนตกหนักสะสมต่อเนื่อง น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม กระทบแล้ว 10 อำเภอ 30 ตำบล 221 หมู่บ้าน
สถานการณ์ น้ำท่วมเชียงราย ระดับน้ำแม่สายเข้าสู่ระดับวิกฤต ล่าสุด วันที่ 22ส.ค.67 จังหวัดเชียงราย เกิดฝนตกหนักสะสมต่อเนื่อง เกิดอุกภัยและดินถล่ม ส่งผลกระทบ รวมทั้งสิ้น 10 อำเภอ 30 ตำบล 221 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 5,579 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ 12,828 ไร่ บ่อปลา/บ่อกุ้ง 68 บ่อ ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
เชียงรายน้ำท่วม ได้ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ อ.เวียงชัย อ.เชียงแสน อ.ป่าแดด อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.เทิง อ.เวียงแก่น อ.ขุนตาล อ.เชียงของและอ.พญาเม็งราย เกิดน้ำท่วมหนักในรอบหลายปี
น้ำท่วมเชียงรายล่าสุด วันที่ 22 ส.ค.67 ส่วนอุทกวิทยาที่ 4 เชียงแสน รายงานสถานการณ์ระดับน้ำแม่สาย เข้าสู่ ระดับวิกฤต เมื่อเวลา 09.19 น. ส่งผลให้ น้ำท่วมแม่สาย น้ำท่วมตลาดสายลมจอย
ทั้งนี้ ปกครองอำเภอแม่สาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแล้ว
อัปเดต น้ำท่วม ล่าสุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มีรายงานวันที่ 22 ส.ค. 67 เวลา 11.00 น. สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา ลำปาง น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ และอุดรธานี รวม 31 อำเภอ 105 ตำบล 541 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 12,777 ครัวเรือน เร่งประสานพื้นที่เร่งให้การช่วยเหลือประชาชนแล้ว
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย
ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ระหว่างวันที่ 16 - 22 ส.ค. 67 มีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา ลำปาง แพร่ อุดรธานี ระยอง และภูเก็ต รวม 47 อำเภอ 144 ตำบล 591 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,988 ครัวเรือน โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2567) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 7 จังหวัด รวม 31 อำเภอ 105 ตำบล 541 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,777 ครัวเรือน ดังนี้
1) เชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อ.เวียงชัย อ.เชียงแสน อ.ป่าแดด อ.พญาเม็งราย อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.เทิง อ.เชียงของ อ.ขุนตาล และ อ.เวียงแก่น รวม 26 ตำบล 156 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,511 ครัวเรือนระดับน้ำลดลง
2) พะเยา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ปง อ.เชียงม่วน อ.ดอกคำใต้ อ.ภูซาง อ.เมืองฯ และ อ.เชียงคำ รวม 40 ตำบล 313 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,500 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
3) ลำปาง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.วังเหนือ อ.แจ้ห่ม อ.งาว และ อ.แม่เมาะ รวม 9 ตำบล 16 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 2 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
4) น่าน เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เวียงสา และ อ.นาน้อย รวม 8 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
5) แพร่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 1 อำเภอ ได้แก่ อ.ร้องกวาง รวม 2 ตำบล 9 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 23 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
6) เพชรบูรณ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.วังโป่ง อ.ชนแดน และ อ.เมือง รวม 6 ตำบล 22 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,726 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
7) อุดรธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ไชยวาน อ.กู่แก้ว อ.เพ็ญ รวม 14 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1 ครัวเรือนระดับน้ำลดลง
ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงทุกพื้นที่ สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน
โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ และรถผลิตน้ำดื่ม เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่และผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วได้เร่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายเพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT
cr.ประชาสัมพันธ์ เชียงราย / ปภ.