- 27 ส.ค. 2567
"พระอาทิตย์7ดวงที่จีน" ล่าสุด อาจารย์เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ถึงคลิปดังกล่าวแล้ว
"พระอาทิตย์7ดวงที่จีน" กำลังเป็นคลิปฮือฮาในโลกออนไลน์ และล่าสุด อาจารย์เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า
"พระอาทิตย์ 7 ดวงที่จีน ไม่น่าใช่ปรากฏการณ์ sundog ครับ"
ไม่กี่วันก่อนนี้ มีรายงานข่าวเกี่ยวกับ "ดวงอาทิตย์ 7 ดวง ในเมืองเฉิงตู ประเทศจีน" โดยอ้างว่า มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเฉิงตู ได้บันทึกภาพบนอาคารโรงพยาบาล ในช่วงเย็น วันที่ 18 สิงหาคม 2024 เนื่องจากเธอได้เห็นดวงอาทิตย์ 7 ดวงซ้อนกัน !?
ตามรายงานข่าวบอกว่า ชาวเน็ตคอมเม้นต์ว่าเธอโชคดีมากที่เห็นปรากฏการณ์นี้ เพราะมีเทพเจ้ากำลังจะจุติลงมาตามความเชื่อ ... ขณะที่ก็มีรายงานข่าวด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า "sun dog (พาฮีเลียน)" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางแสงในชั้นบรรยากาศ ที่มีผลึกน้ำแข็งลอยอยู่ในอากาศ เมื่อแสงแดดส่องผ่านผลึกน้ำแข็ง การหักเหของแสงที่เกิดขึ้นในมุม 22 หรือ 46 องศา จากการที่ผลึกน้ำแข็งเรียงขนานกัน จะทำให้เกิดภาพลวงตา เห็นเป็นดวงอาทิตย์หลายดวงได้ !?
แต่ๆๆ เมื่อดูลักษณะของภาพ และคลิปวิดีโอ (คลิก) ของเหตุการณ์ดวงอาทิตย์ 7 ดวงนี้แล้ว จะเห็นว่า ก็ไม่ได้มีลักษณะเหมือนกับปรากฏการณ์ sun dog แต่อย่างไร (ดูภาพประกอบ)
เรื่องนี้จะคล้ายกับเมื่อตอนต้นปี ในประเทศไทยเรา ที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ "ดวงอาทิตย์ 2 ดวง" ผ่านสื่อออนไลน์ Tiktok โดยผู้ใช้ชื่อ @soladdawan61 ปรากฏภาพของดวงอาทิตย์สีแดง ซ้อนกัน 2 ถึง 3 ดวง (คลิก)
แต่ ดร. มติพล ตั้งมติธรรม - นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร. (NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ) ได้โพสต์ชี้แจ้งแย้งไว้ว่า
ความจริงแล้ว คลิปดวงอาทิตย์ 2 ดวงนี้ น่าจะเกิดจาก "ภาพสะท้อนที่กระจก" ! โดยอธิบายไว้ว่า ปรากฏการณ์ที่สามารถทำให้ดวงอาทิตย์ปรากฏได้หลายดวงนั้น มีหลายสาเหตุ ตั้งแต่การสะท้อนภายในเลนส์ของกล้องเอง (lens glare) การสะท้อนกับกระจกอาคาร ไปจนถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศ
ซึ่งหากเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจาก lens glare จากการสะท้อนภายในเลนส์กล้องนั้น จุดสังเกตคือ ตำแหน่งของแสงมักเปลี่ยนตามมุมของกล้องที่ส่ายไปมา (ซึ่งไม่ปรากฏ lens glare ในวีดีโอดังกล่าว) และปรากฏการณ์นี้ จะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า (แต่คลิปนี้ ผู้ถ่ายยืนยันว่า เห็นด้วยตาเปล่า)
ส่วนปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศที่อาจสะท้อน และหักเหแสงจากดวงอาทิตย์ ทำให้สามารถสังเกตเห็นแสงจากดวงอาทิตย์ในมุมที่เปลี่ยนไปได้นั้น ก็มีอยู่ด้วยกันอยู่หลายปรากฏการณ์ เช่น Sun Dog , Sun Pillar , Novaya Zemlya effect ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่สำคัญก็คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดจากชั้นบรรยากาศตามธรรมชาตินั้นมักจะมีสมมาตร ไม่ว่าจะเป็นแบบวงกลม (เช่น รุ้งกินน้ำ หรือดวงอาทิตย์ทรงกลด) ตามแนวนอน (เช่น Sun Pillar และ Novaya Zemlya) หรือตามแนวตั้ง (เช่น Sun Dog) สืบเนื่องมาจากรูปร่างทรงกลมของหยดน้ำ และการสะท้อนภายในผลึกน้ำแข็งในชั้นบรรยากาศที่กำลังตกลงตามแรงโน้มถ่วง ตามลำดับ
แต่หากสังเกตจากวิดีโอ จะพบว่าภาพลวงของดวงอาทิตย์ ปรากฏในแนวที่เฉียงออกไปในทิศทางเดียว ขัดแย้งกับสมมาตรที่สามารถพบได้ในชั้นบรรยากาศ เป็นการยาก ที่จะอธิบายว่าอนุภาคในอากาศจะต้องมีการเรียงตัวกันอย่างไร จึงจะสามารถสังเกตเห็นภาพลวงของดวงอาทิตย์ ที่เฉียงไปทางบนขวาเพียงอย่างเดียวได้
ทั้งนี้ หากสังเกตจากภาพ "ดวงอาทิตย์สองดวง" ที่มีการเผยแพร่ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากนิวซีแลนด์ หรือจากจีน (ซึ่งเชื่อว่า เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติจริง ที่หาดูได้ยากมาก) ต่างก็พบว่า มีการเรียงตัวของดวงอาทิตย์ในแนวราบด้วยกันทั้งนั้น
นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้ว พื้นผิวที่เกิดการสะท้อนหรือหักเหในชั้นบรรยากาศนั้น มักจะมีลักษณะที่เบลอไม่ได้เป็นขอบที่ชัดเจน สืบเนื่องมาจากระนาบการสะท้อนแสงที่ซ้อนกันหลายระนาบ ตลอดทั้งมวลอากาศ
ในขณะที่ภาพดวงอาทิตย์ 2 ดวง ที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ดังกล่าว มีขอบชัดเจน (กรณีดวงอาทิตย์ 7 ดวงที่จีน ก็เช่นกัน) จึงบ่งชี้ว่าเกิดจากการสะท้อนจากพื้นผิวแบนราบ ที่มีความหนาเพียงแผ่นบาง ๆ ในระนาบเดียว ไม่ได้สอดคล้องกับการสะท้อนจากชั้นบรรยากาศ
ยังมีปริศนาอีกว่า หากชั้นบรรยากาศสามารถเบี่ยงทิศทางแสงอาทิตย์ได้ แล้ว เพราะเหตุใ ดสมมาตรวงกลมของดวงอาทิตย์ดวงเดิม จึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป (โดยเฉพาะเมื่อภาพลวงตาดังกล่าวซ้อนทับกับดวงอาทิตย์อยู่) แม้กระทั่งปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ 2 ดวงที่พบในนิวซีแลนด์ หรือจีน ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ปรากฏดวงอาทิตย์ที่มีขอบเป็นวงกลมซ้อนกัน ด้วยกันทั้งนั้น
ด้วยเหตุที่ภาพที่ปรากฏนั้น เป็นดวงอาทิตย์ที่มีขอบคมซ้อนทับกันเป็นแนวเฉียงในทิศทางเดียว โดยไม่ได้ยืดออกแต่อย่างใด จึงสามารถสรุปได้ว่า วัตถุที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาพซ้อนกันนั้น ควรจะเป็นวัตถุที่มีการเรียงตัวเป็นระนาบแผ่นบางเพียงแผ่นเดียว ซึ่งวัตถุที่น่าจะเป็นมากที่สุดในกรณีนี้ ก็น่าจะเป็นกระจก ของอาคารที่ถ่ายอยู่นั่นเอง
ดังนั้น กรณี "ดวงอาทิตย์ 7 ดวง ที่ประเทศจีน" ก็น่าจะเข้าทำนองเดียวกัน ที่ไม่น่าะจะเป็นปรากฏการณ์การหักเหของแสง เมื่อผ่านผลึกน้ำแข็ง ในชั้นบรรยากาศ เหมือน sun dog ... แต่น่าจะเป็นจากการมองผ่าน และถ่ายภาพผ่านกระจกของโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันนี้ กระจกอาคารก็มีการใช้กระจกแบบหลายชั้น หรือ multilayer tempered laminated glass เพื่อให้เกิดช่องว่างอากาศ (air gap) เพื่อให้เป็นฉนวนกันเสียงและกันความร้อน ก็เลยอาจทำให้เกิดภาพสะท้อนดวงอาทิตย์ขึ้นในกระจกเองได้