รวบ 5 หมอเถื่อน ใช้ยาไม่มีทะเบียนฉีดเข้าเส้นลูกค้า อันตรายมาก

ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) ร่วม สบส. สสจ.ระยอง รวบ 5 หมอเถื่อน ลักลอบใช้เครื่องสำอาง ยาไม่มีทะเบียนฉีดเข้าเส้นให้แก่ผู้ใช้บริการ

วันที่ 28 สิงหาคม 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย, พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ, พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก,เจ้าหน้าที่ตำรวจ  บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, ทพ.อาคมประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ สาธารณสุขจังหวัดระยอง โดย นพ.สุนทร เหรียญภูมิการกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยอง ร่วมปฏิบัติการระดมตรวจค้นสถานพยาบาล บ้านพัก และร้านนวดสปาที่ดัดแปลงเป็นสถานพยาบาล จำนวน 4 จุด จับกุมหมอเถื่อน 5 ราย ลักลอบใช้ผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการฉีดเข้าร่างกาย ยาไม่มีทะเบียน และใช้บุคลากรที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมทำการรักษาประชาชน

 

รวบ 5 หมอเถื่อน ใช้ยาไม่มีทะเบียนฉีดเข้าเส้นลูกค้า อันตรายมาก

พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2567 กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ระดมกวาดล้างสถานที่ผลิตจำหน่าย รวมถึงสถานพยาบาลที่มีนำผลิตภัณฑ์infiNADi Nad+(อินฟินาดิ แนทพลัส) ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยการฉีดเข้าสู่ร่างกาย ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแม้จะถูกเพิกถอนใบรับจดแจ้งไปแล้ว แต่ยังพบว่าคลินิกเสริมความงามหลายแห่ง ยังมีการนำมาใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกายให้กับผู้รับบริการ จนนำมาสู่การร่วมปฏิบัติระดมกวาดล้างสถานพยาบาลที่ทำผิดกฎหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ., กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง รวม 4 จุด ดังนี้

 

รวบ 5 หมอเถื่อน ใช้ยาไม่มีทะเบียนฉีดเข้าเส้นลูกค้า อันตรายมาก


 
 1. คลินิกเสริมความงาม พื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) โดยขณะเข้าตรวจสอบพบว่า น.ส.ชนาภา (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี กำลังให้บริการฉีดเครื่องสำอาง (NAD+ therapy) ให้กับประชาชนที่มารับบริการ และพบบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของเครื่องสำอางดังกล่าว เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบพบว่า ผู้ที่ให้บริการฉีดรักษาไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม และไม่มีเคยมีประสบการณ์ หรือความรู้ทางการแพทย์มาก่อน

 

โดยน.ส.ชนาภาฯ กล่าวอ้างว่า ตนเองจบชั้น ปวส. สาขา คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ทำงานที่คลินิกแห่งนี้ได้ประมาณ 1 ปี รับเงินเดือน เดือนละ 13,000 บาท เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุม น.ส.ชนาภา(สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ผู้ทำการรักษา ในข้อกล่าวหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาต” และ น.ส.พรรณทิวา(สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี ผู้ดำเนินกิจการสถานพยาบาล ในข้อกล่าวหา “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” พร้อมตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีด จำนวน 1 รายการ นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต ดำเนินคดี โดยผู้ต้องหาทั้ง 2 รายให้การรับสารภาพ

 

รวบ 5 หมอเถื่อน ใช้ยาไม่มีทะเบียนฉีดเข้าเส้นลูกค้า อันตรายมาก


 
2. ร้านนวดทรีทเม้นท์หน้า พื้นที่ ต.ทับมอญ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้าตรวจสอบ สถานที่ดังกล่าว พบว่า เปิดร้านนวดสปาขัดผิวบังหน้าแต่ภายในมีการให้บริการดริปวิตามิน และฉีดเสริมความงาม โดยพบ นางสุนิดา (สงวนนามสกุล) อายุ 39 ปี เจ้าของสถานที่ กำลังฉีดผิวหน้าให้กับผู้รับบริการ และพบ น.ส.ภานิดา (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี กำลัง ดริปวิตามินบำรุงผิวให้แก่ลูกค้า จากการตรวจสอบสถานที่ดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และไม่มีใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล อีกทั้งผู้ที่ให้บริการฉีดรักษาทั้ง 2 ราย รับว่าจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแต่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงร่วมกันจับกุม ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ได้แก่

1. นางสุนิดาฯ เจ้าของสถานที่ ในข้อหา "ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต, ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับ" โดย นางสุนิดาฯ รับว่า ได้เปิดกิจการดริปวิตามินผิวและฉีดเสริมความงามเป็นอาชีพเสริม ได้ประมาณ 2 ปี มีรายได้เดือนละ 40,000 บาทซึ่งได้มีความรู้จากการเคยทำงานภายในคลินิกมาก่อน 

2. น.ส.ภานิดาฯ ในข้อกล่าวหา ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต โดย น.ส.ภานิดาฯ รับว่า เคยเป็นพยาบาลอาชีพ แล้วลาออก มารับจ้างทำงาน ณ ที่เกิดเหตุของ นางสุนิดาฯ ซึ่งเริ่มทำงานมาประมาณ 1 สัปดาห์ ให้บริการลูกค้าไปแล้ว 1 คน โดยได้รับค่าตอบแทนจำนวน 2,500 บาท  

พร้อมตรวจยึดยาแผนปัจจุบัน 7 รายการ, ยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 1 รายการ, อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น กระบอกฉีดยา, เข็มคละขนาด เข็มที่ใช้แล้ว จำนวน 11 รายการ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้บริการ ดริปวิตามินบำรุงผิว ขณะเกิดเหตุจำนวน 1 รายการ รวมจำนวน 20 รายการ มูลค่า 50,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน สภ.เขาชะเมา ดำเนินคดี 
 
3. บ้านพักในพื้นที่ ต.สำนักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 จากการตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว พบว่ามีการดัดแปลงบ้านพักเพื่อใช้เป็นสถานที่ให้บริการฉีดเสริมความงาม ดริปวิตามินแก่ลูกค้า โดยขณะเข้าตรวจสอบพบน.ส.วรรณวิสา (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี กำลังให้บริการฉีดวิตามินบำรุงผิวให้กับประชาชนที่มารับบริการ อีกทั้งพบว่าสถานที่ดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และไม่มีใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล อีกทั้งผู้ทำการฉีดรักษาไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงร่วมกันจับกุม น.ส.วรรณวิสาฯ ในข้อกล่าวหา "ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต, ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับ" โดย น.ส.วรรณวิสาฯ รับว่าตนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้เริ่มให้บริการทำหัตถการเกี่ยวกับการเสริมความงามมาประมาณ 1 เดือน โดยมีรายได้จากการให้บริการ ครั้งละประมาณ 1,000 บาท โดยมีประสบการจากการทำงานในคลินิกมาก่อน

 

รวบ 5 หมอเถื่อน ใช้ยาไม่มีทะเบียนฉีดเข้าเส้นลูกค้า อันตรายมาก

 

ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการดริปวิตามินขณะเกิดเหตุ จำนวน 1 รายการ, ยาแผนปัจจุบัน 5 รายการ, ยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 8 รายการ, อุปกรณ์ทางการแพทย์ กระบอกฉีดยา เข็มคละขนาด เข็มที่ใช้แล้ว จำนวน 15 รายการ รวมของกลางทั้งหมด 29 รายการ มูลค่า 60,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน สภ.บ้านฉาง ดำเนินคดี
 
4. ร้านนวดทรีทเม้นท์หน้าแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ หมู่ 6 ต.นิคมพัฒนา อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ขณะเข้าตรงจสอบ พบ น.ส.ยุภา (สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี กำลังให้บริการฉีดวิตามินบำรุงผิวให้แก่ลูกค้าที่มารับบริการ เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบพบว่าสถานที่ดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และไม่มีใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล อีกทั้ง ผู้ที่ให้บริการฉีดรักษาไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม จึงร่วมกันจับกุม น.ส.ยุภาฯ ในข้อหา "ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต, ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับ" 

โดย น.ส.ยุภาฯรับว่า ตนจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้เปิดกิจการมา ประมาณ 9 ปี ซึ่งในช่วงแรกเป็นการนวดบำรุงหน้าปกติจากนั้นได้เริ่มมีให้บริการเกี่ยวกับการฉีดวิตามิน โดย น.ส.ยุภาฯ มีความรู้การทำหัตถการจากการจดจำแพทย์ในคลินิก ที่ตนเองเคยทำงานมาก่อนหลายปี น.ส.ยุภาฯมีรายได้จากกิจการ เดือนละ 120,000 บาท

ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำฉีดวิตามิน ให้แก่ลูกค้า จำนวน 1 รายการ, ยาแผนปัจจุบัน 7 รายการ, ยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 9 รายการ, อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น กระบอกฉีดยา เข็มคละขนาด จำนวน 11 รายการ รวมของกลางทั้งหมด 28 รายการ มูลค่า 100,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน สภ.นิคมพัฒนา ดำเนินคดี
 
รวมตรวจค้น 4 จุด ตรวจยึดของกลาง รวมกว่า205 รายการ มูลค่ากว่า 280,000 บาท โดยเป็นยามีทะเบียนตำรับยา จำนวน 31 รายการ, ยาที่ไม่มีทะเบียนตำรับยา 29 รายการ, เครื่องมือแพทย์ จำนวน 19 รายการ, เครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 4 รายการ, เวชภัณฑ์ จำนวน 17 รายการ

จับกุมผู้ต้องหา 6 ราย (แพทย์เถื่อน 5 ราย) เจ้าของคลินิก 1 ราย โดยผู้ทำการรักษาจบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1 ราย, ปวส. จำนวน 1 ราย และ ปริญญาตรี 3 ราย โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา

 

รวบ 5 หมอเถื่อน ใช้ยาไม่มีทะเบียนฉีดเข้าเส้นลูกค้า อันตรายมาก

 

อนึ่ง การปล่อยให้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาให้บริการรักษา ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล”ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีคำสั่งทางปกครองให้ปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้ โดยหากพบการกระทำความผิดพนักงานสอบสวนจะมีการออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
 
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม

1. กรณีสถานที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน "ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต" ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
 
2. พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐาน "ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต" ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน

- “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต”ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- “ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5,000 บาท 
 
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวว่าการรับบริการทางการแพทย์จากคลินิกเถื่อน หรือหมอเถื่อน ย่อมมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกาย อย่างการเสริมความงามก็มีสิทธิที่จะเกิดอาการอักเสบ ติดเชื้อจากบริการท่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งในบางรายก็เกิดผลกระทบที่รุนแรงถึงขั้นพิการ ตาบอดสนิทหรือเสียชีวิต ดังนั้น ผู้รับบริการจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ไม่ด่วนตัดสินใจเลือกรับบริการเพียงด้วยคำบอกเล่าปากต่อปากว่าดี หรือราคาที่ถูกกว่า โดยจะต้องเลือกรับบริการจากสถานพยาบาล และแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากหลักฐานที่สถานพยาบาลจะต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ณ จุดบริการ ได้แก่ 

1) มีการแสดงป้ายชื่อสถานพยาบาล ซึ่งแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก 

2) มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล 

3) มีการแสดงใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล

และ 4) มีการแสดงหลักฐานของแพทย์ที่ให้บริการ โดยมี ชื่อ-นามสกุล และภาพถ่ายที่หน้าห้องตรวจ อีกทั้ง เพื่อความมั่นใจควรตรวจสอบชื่อสถานพยาบาลกับเว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (www.mrd-hss.moph.go.th)

 

รวบ 5 หมอเถื่อน ใช้ยาไม่มีทะเบียนฉีดเข้าเส้นลูกค้า อันตรายมาก


 
พล.ต.ต.วิทยา  ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ก่อนเข้ารับการรักษาโรค หรือเสริมความงาม ตามสถานพยาบาลต่างๆ ควรตรวจสอบการได้รับอนุญาตของคลินิกและแพทย์ที่ทำการรักษาก่อนในเบื้องต้น เพราะอาจทำให้ได้รับความเสี่ยงในการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ไม่ถูกต้องจากบุคลากรที่ไม่ใช้แพทย์ เนื่องจากบริเวณใบหน้ามีเส้นเลือดและเส้นประสาทเป็นจำนวนมาก หากทำการฉีดรักษาโดยบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์อาจทำให้ได้รับความเสี่ยงต่อการรักษาที่ผิดพลาด และเกิดผลกระทบกับใบหน้าได้ง่าย บางรายอาจถึงขั้นเสียโฉมยากต่อการแก้ไข