"รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" รองโฆษกเพื่อไทย เผยเอง มี 2 ทางเลือก ที่เป็นไปได้

"รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" โฆษกกระทรวงคมนาคม ย้ำ ซื้อคืนสัมปทานบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาล ทำเพื่อประชาชน-ไม่ใช่เพื่อเอกชน

"รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" คืบหน้าล่าสุด จากเฟซบุ๊ก พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความระบุว่า นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา โฆษกกระทรวงคมนาคม โพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย “เอ็กซ์” ชี้แจงกรณี นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคประชาชน ออกมาคัดค้านแนวคิดการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาล โดยระบุว่า เป้าหมายสำคัญของการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้ากลับมาเป็นของรัฐ โดยการเปลี่ยนสัญญาจากรูปแบบ PPP Net Cross เป็น PPP Gross Cost จะทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมอัตราค่าโดยสารได้ โดยเฉพาะนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่ต้องการลดค่าครองชีพด้านการเดินทางให้กับประชาชน

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของพรรคเพื่อไทย ที่ได้นำร่องดำเนินการแล้วกับ 2 โครงการ คือ รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน รวมถึงรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ได้รับการตอบรับจากพี่น้องประชาชนอย่างดีเยี่ยม และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในระดับ “นิวไฮ” นับตั้งแต่เปิดให้บริการ เพราะจะไปที่ไหน ไกลแค่ไหน ก็จ่ายแค่ 20 บาท

ส่วนที่ยกตัวอย่างว่า รัฐบาลจะต้องไปเอาภาระการขาดทุนของรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู และสายสีเหลืองมาแบกไว้ เพราะตัวเลขผู้โดยสารยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน แถมกล่าวหาว่า หาเรื่องผลาญงบไปช่วยเอกชนนั้น อยากถามว่า ทำไมถึงคิดแบบนี้ เพราะส่วนตัวเชื่อว่า จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านจุดสำคัญมากมาย ประกอบกับรัฐบาลอยู่ระหว่างการเตรียมระบบเชื่อมต่อฟีดเดอร์ อำนวยความสะดวกผู้โดยสารไว้อยู่แล้ว

”ที่สำคัญเรื่องนี้ ไม่ใช่คิดจะทำ แล้วทำได้เลย เพราะมีกระบวนการอย่างรอบคอบ โดยเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาฯ ดำเนินการศึกษารายละเอียดในทุกมิติ ซึ่งจะมีการคำนวณส่วนได้-ส่วนเสียอย่างละเอียด ทั้งต่อวันต่อเดือนและต่อปี เพื่อให้เอกชนที่เป็นคู่สัญญา ได้รายได้กลับไปอย่างเหมาะสม เช่นเดียวกับรัฐบาลจะต้องไม่เสียหาย และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนสูงสุด“ กฤชนนท์กล่าว

โฆษกกระทรวงคมนาคม ยังระบุอีกว่า ไม่แน่ใจว่าการที่ สส.ศุภณัฐ ออกมาคัดค้านเรื่องนี้ ได้ศึกษาข้อดี-ข้อเสีย ไว้แล้วหรือไม่ เพราะตอนมีกระแสการขยายสัมปทานโทลล์เวย์ เพื่อแลกกับการลดค่าผ่านทางฯ นั้น พรรคก้าวไกล หรือพรรคประชาชนในปัจจุบัน ยังออกแถลง Policy Watch หัวข้อ “ทวงคืนทางด่วน หมดสัมปทานต้องคืนรัฐ” เพราะอยากให้โครงการกลับมาเป็นของรัฐ ซึ่งก็เช่นเดียวกัน พอกลับมาเป็นของรัฐ แนวทางที่จะเปิดประมูลใหม่ก็เป็นไปได้

นอกจากนี้ อยากให้ลองถามผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ว่าชื่นชอบนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายหรือไม่ และช่วยประหยัดค่าเดินทางมากน้อยแค่ไหน เพราะนโยบายนี้ทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลของกรมการขนส่งทางราง ระบุว่า ตัวเลขผู้โดยสารสายสีแดงตั้งแต่เริ่มใช้นโยบาย 20 บาท (วันแรก-ปัจจุบัน) มีผู้โดยสาร 7,236,120 คน-เที่ยว ส่วนสายสีม่วง (วันแรก-ปัจจุบัน) 16,537,810 คน-เที่ยว จึงทำให้ทราบว่าผู้โดยสารตอบรับนโยบายเป็นอย่างดี และคาดการณ์ว่า สายสีอื่นๆ ก็จะเป็นแบบนั้นเช่นกัน

นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความบนเอ็กซ์เช่นกัน โดยระบุว่า การเดินหน้านโยบาย 20 บาทตลอดสาย มี 2 ทางเลือก คือ ชดเชยค่าโดยสาร เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงในราคาถูก หรือเวนคืนสัมปทานกลับมาที่รัฐ เพื่อให้รัฐควบคุมราคาได้เอง ซึ่งทั้ง 2 ทางใช้งบประมาณทั้งสิ้น แต่ก็เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน และส่งเสริมให้รถไฟฟ้า เป็นขนส่งสาธารณะที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้จริง ทั้งนี้ การจะเลือกวิธีใด หน่วยงานจะศึกษาและประเมินค่าใช้จ่ายให้รัดกุม ก่อนเดินหน้าตัดสินใจอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ จากการเปรียบเทียบรูปแบบการลงทุนแบบ PPP Net Cost กับ PPP Gross Cost จะพบว่า PPP Gross Cost มีข้อดีหลายปัจจัย อาทิ

– เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เนื่องจากรัฐรับภาระด้านรายได้ และใช้ตั๋วร่วมหรือนโยบายอื่นๆ ของรัฐได้สะดวกกว่า

– รัฐสามารถบูรณาการเชื่อมต่อโครงข่ายได้ง่าย โดยไม่ติดข้อจำกัดกับผู้รับสัมปทาน

– ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ เนื่องจากรัฐดำเนินการเรื่องนโยบายด้านราคาได้

– ดำเนินงานง่าย ไม่ต้องชดเชยหรือแก้ไขสัญญาสัมปทาน

– รัฐกำหนด KPI ในมาตรฐานการบริการได้

"รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" รองโฆษกเพื่อไทย เผยเอง มี 2 ทางเลือก ที่เป็นไปได้