เผยความลับ "สติ๊กเกอร์บนผลไม้นำเข้า" ที่แท้มันบอกอะไร เพิ่งรู้ก็วันนี้

อ.เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ เลขฉลาก PLU บนผลไม้นำเข้า ที่แท้มันบอกอะไรบ้าง

อ.เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ออกมาโพสต์ข้อความในหัวข้อ "เลขฉลาก PLU บนผลไม้นำเข้า ไม่ค่อยบอกอะไร สำหรับผู้บริโภค หรอกครับ" โดยได้ระบุว่า 

จริงๆ อันนี้เป็นเรื่องเก่า ที่เคยอธิบายไปหลายทีแล้ว โดยเฉพาะตอนช่วงที่มีกระแส "แอนตี้ GMO" ว่าเรื่อง ตัวเลขที่อยู่บนผลไม้ เนี่ย มันไม่ค่อยมีอะไรสำคัญเท่าไหร่หรอกครับ โดยเฉพาะกับผู้บริโภคอย่างเราๆ 

เพราะมันมีไว้สำหรับทางเกษตรกรและห้างร้าน ในการจำแนกแยกผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ เพื่อการขนส่งและจัดจำหน่าย แค่นั้นเอง / ไม่ได้เอาไว้บอกว่า ผลไหนมียาฆ่าแมลงตกค้าง หรือผลไหนปลอดภัยในการบริโภค

ภาพผลไม้นำเข้า เช่น แอปเปิ้ล ที่ติดสลาก ที่แชร์กันมานานหลายปี หลายรอบแล้วนี้ มีแคปชั่นทำนองว่า "ฉลากผลไม้ขึ้นต้นด้วยเลข 9 แสดงว่าเป็น ออร์แกนิก ถ้าขึ้นด้วยเลข 8 เป็นพวก GMO ถ้ามีเลขสี่ตัว ขึ้นด้วยเลข 3 หรือ 4 แสดงว่าใช้ ยาฆ่าแมลง ก่อนรับประทานล้างและแช่น้ำไว้นานๆ หน่อย" !?

จริงๆ แล้ว สติกเกอร์ที่มีตัวเลขดังกล่าว ซึ่งเราจะเห็นบนแอปเปิ้ล กล้วย ส้ม ฯลฯ ที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น เรียกว่า Price Look-Up (PLU) numbering codes หรือ รหัสเลข PLU สำหรับดูราคา สินค้าทางการเกษตรที่เป็นของสด ไม่ได้ผ่านกระบวนการผลิต กำหนดตัวเลขโดยหน่วยงาน the International Federation for Produce Standards (IFPS) ที่คอยดูแลรายการรหัสตัวเลข 5 ตำแหน่ง (ที่บางที เห็นเป็น 4 ตำแหน่งนั้น ก็เพราะว่ามันมีเลขศูนย์ นำหน้า) ซึ่งใช้ระบุคุณลักษณะของสินค้า ตั้งแต่สายพันธุ์ ชนิด ขนาด พื้นที่เพาะปลูก และวิธีการเพาะปลูก (เช่น เป็นเกษตรอินทรีย์)

ตัวเลขนี้ได้เริ่มนำมาใช้ในห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ ตั้งแต่ยุค ค.ศ.1990 เพื่อให้สามารถตรวจสอบและจัดจำแนกสินค้าทางการเกษตร ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และแม่นยำขึ้น จะได้ให้แคชเชียร์คิดเงินลูกค้าได้อย่างสะดวกและถูกต้อง

สำหรับตัวเลขรหัส PLU ที่มักจะพบว่าอยู่ในช่วง เลข 3000-4000 นั้น จริงๆ แล้วมีเลข "0" อยู่ข้างหน้า (ทำให้เป็นรหัส 5 ตำแหน่ง) และเป็นการเพาะปลูกแบบเกษตรทั่วไป ขณะที่ถ้ามีเลข "9" อยู่ด้านหน้า (ซึ่งจะเห็นชัดว่าเลขรหัสมี 5 ตำแหน่ง) จะระบุว่าเป็นผลผลิตจากการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์

ตัวอย่างเช่น รหัส PLU code 4318 แสดงว่าเป็น แตงแคนตาลูป ที่ปลูกแบบทั่วไป ในบริเวณตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ขณะที่รหัส 94011 แสดงว่าเป็นกล้วยสีเหลืองที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์

แต่รหัสเลข PLU นี้ เป็นแค่ "ทางเลือก" เป็นแค่คำแนะนำเท่านั้น ผู้ผลิตจะไม่ติดหรือจะไม่ใช้ ก็ได้ เพราะเป็นแค่ตัวช่วยของผู้ขายในการจัดจำแนกและคิดราคาสินค้าเท่านั้น ไม่ได้เป็นเครื่องหมายบอกถึงคุณภาพมาตรฐานแต่อย่างไร .

ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ขายตั้งราคาสินค้านั้นเหมือนกัน ระหว่างผลที่เพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ และผลที่ปลูกด้วยวิธีเกษตรทั่วไป ก็สามารถเอารหัส PLU มาแสดงแค่ 4 ตำแหน่งหลัง โดยไม่ต้องใส่เลข 9 ด้านหน้าก็ได้

หรืออย่างกรณีของเลข 8 ที่แสดงถึงการเป็น GMO หรือ สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมนั้น ก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องใส่เลข 8 นี้ในหลักแรก ของรหัสทั้ง 5 ตำแหน่ง แต่แสดงแค่ 4 ตำแหน่งหลังก็ได้ (จริงๆ ก็ยังไม่ค่อยมีสินค้าที่เป็นผักผลไม้ GMO ขายในท้องตลาดทั่วไป)

ดังนั้น ถ้าตั้งใจจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ทางเกษตร แบบจำเพาะที่ต้องการ เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสาร (หมายถึง ใช้สารเคมี แต่อย่างเหมาะสมและไม่ตกค้าง) ก็ควรดูตราสัญลักษณ์มาตรฐาน เป็นการเฉพาะไป .. มากกว่าจะมาดูเลข PLU นี้ครับ

ถึงบางอ้อ "สติ๊กเกอร์บนผลไม้นำเข้า" ที่แท้มันคืออะไร เพิ่งจะรู้ก็วันนี้