- 11 ก.ย. 2567
น้ำท่วมเชียงราย ล่าสุด อ่วมหนัก เปิดภาพมุมสูง อำเภอเมืองเชียงราย บริเวณชุมชนเกาะลอย-ห้าแยกพ่อขุน-สะพานน้ำกกถนนพหลโยธิน
น้ำท่วมแม่สาย ล่าสุด 11ก.ย.67 อัปเดต สถานการณ์อุทกภัยที่ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สาย น้ำท่วมเชียงราย โดยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักคือซอย 4 ซอย 6 ถนนเหมืองแดงซึ่งน้ำท่วมสูงท่วมศีรษะและยังไหลเชี่ยวกราก แต่เนื่องจากการเข้าไปถึงเป็นไปด้วยความยากลำบากทำให้ชาวบ้านยังติดอยู่ตามจุดต่างๆ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันประชุมหารือโดยเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อำเภอแม่สาย
โดย ในส่วนของมวลน้ำในแม่น้ำสายจะไหลลงแม่น้ำรวก และแม่น้ำรวกจะไหลลงแม่น้ำโขง แต่วันนี้น้ำโขงสูงขึ้นวัดได้ 8.7เมตร สูงกว่าเมื่อวานที่วัดได้แค่ 7 เมตรกว่า ทำให้การไหลของน้ำตามธรรมชาติทำได้ช้า จึงคาดว่าน้ำจะท่วมขังอย่างนี้อีกอย่างน้อย 2-3 วัน
โดย 11ก.ย.67 ทางมูลนิธิกระจกเงา เชียงราย ได้เผยภาพถ่ายสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดที่อำเภอเมืองเชียงราย และแม่น้ำกก วันพุธที่ 11 กันยายน เวลา 13.39 น. (ชุมชนเกาะลอย-ห้าแยกพ่อขุน-สะพานน้ำกกถนนพหลโยธิน)
นอกจากนี้ เทศบาลตำบลเวียงพางคำ ได้เผยภาพมุมสูง ถ้ำผาจม บ้านแม่สาย ม.1 ต.เวียงพางคำ ยังมีผู้ประสบภัยติดอยู่บนหลังคา ยังไม่สามารถช่วยเหลือได้ (11 กันยา 67 เวลา 12.50 น.)
เช่นเดียวกับน้ำท่วมเมืองเชียงรายถนนธนาลัย (เส้นถนนคนเดิน) บริเวณหน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย อัปเดต 11 กันยายน 2567 เวลา 12.32 น.
ด้าน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อัปเดตสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่7 จังหวัด ในวันที่ 11 ก.ย. 67 เวลา 10.00 น. ปภ. รายงานมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา รวม 17 อำเภอ 97 ตำบล 450 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,328 ครัวเรือน ประสานพื้นที่ดูแลและให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน
พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เข้าสนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เร่งคลี่คลายสถานการณ์
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ระหว่างวันที่ 16 ส.ค. - 11 ก.ย. 67 มีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 27 จังหวัด
ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ระยอง ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และสตูล
รวม 120 อำเภอ 535 ตำบล 2,844 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 83,501 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 26 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 ราย โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 11 กันยายน 2567) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 7 จังหวัด รวม 17 อำเภอ 97 ตำบล 450 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,328 ครัวเรือน ดังนี้
1) เชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย อ.ขุนตาล และ อ.พญาเม็งราย รวม 4 ตำบล 27 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,276 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
2) เชียงใหม่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอแม่อาย รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน ผู้สูญหาย 4 ราย จากสาเหตุดินถล่ม
3) ตาก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอแม่สอด รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
4) สุโขทัย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอกองไกรลาศ รวม 3 ตำบล 20 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 361 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
5) พิษณุโลก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ และ อ.เมืองฯ รวม 7 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 576 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
6) อ่างทอง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอวิเศษชัยชาญ รวม 3 ตำบล 14 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 343 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
7) พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล อ.บางปะหัน อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน และ อ.บางไทร รวม 78 ตำบล 372 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,772 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
cr. มูลนิธิกระจกเงา เชียงราย/ ปภ.