อัปเดตเส้นทาง"พายุดีเปรสชัน"เข้าไทย  ทวีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อน

อัปเดตเส้นทางพายุดีเปรสชัน บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน คาดว่าเคลื่อนขึ้นฝั่งเวียดนามตอนกลางในช่วง20 – 21 ก.ย. นี้

18ก.ย.67 กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตเส้นทาง"พายุดีเปรสชัน" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง โดยเผยว่า  ขณะนี้พายุยังไม่แรงขึ้นในระดับโซนร้อน และเคลื่อนตัวช้าลงเล็กน้อย ไปทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กม./ชม. มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน (โตช้ากว่าที่คาด)  แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณภาคอีสาน และภาคเหนือตอนล่าง

และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 20 – 21 ก.ย. 67 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ และเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณภาคอีสาน และภาคเหนือตอนล่าง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก

อัปเดตเส้นทาง\"พายุดีเปรสชัน\"เข้าไทย  ทวีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อน

  • ภาคเหนือตอนล่าง (แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร ตาก )
  • ภาคอีสานตอนบนและตอนกลาง (หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด) 

อัปเดตเส้นทาง\"พายุดีเปรสชัน\"เข้าไทย  ทวีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อน


ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ลมฝน)มีกำลังแรงพัดเข้าหาพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้ภาคกลางตอนล่าง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก (นครนายก ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด )

และภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล)มีฝนตกหนักมากบางแห่ง คลื่นลมมีกำลังแรงลม ในช่วงวันที่ 20–23 ก.ย. 67 ยังต้องติดตามและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 

อัปเดตเส้นทาง\"พายุดีเปรสชัน\"เข้าไทย  ทวีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อน


กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 10 จังหวัดภาคกลาง และ กทม.เฝ้าระวัง ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 67 เป็นต้นไป

 

10จังหวัด ภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร

อัปเดตเส้นทาง\"พายุดีเปรสชัน\"เข้าไทย  ทวีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อน

เฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2567 เป็นต้นไป โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงแจ้งจังหวัดประสานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง

 

โดย นายไชยวัฒน์  จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้รับแจ้งจากกรมชลประทาน ว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่

 

จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้า 1 - 7 วันข้างหน้า คาดว่าในวันที่ 24 กันยายน 2567 ที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 1,500 - 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำ Sideflow ประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมกับคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังประมาณ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

 

ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบกรมชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง ในอัตรา 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะมีการระบายเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได

อัปเดตเส้นทาง\"พายุดีเปรสชัน\"เข้าไทย  ทวีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อน

ส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.60 – 1.00 เมตร ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2567 เป็นต้นไป 


กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้ประสาน 10 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะ

 

ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำและบริเวณจุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม

 

นอกจากนี้ ยังได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำและแนวป้องกันน้ำท่วมให้มีความแข็งแรง เพื่อป้องกันระดับน้ำล้นข้ามแนวคันกั้นน้ำ อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง