- 20 ก.ย. 2567
คนญี่ปุ่นทดสอบน้ำดื่มแพ็ก ในไทย เจอค่า TDS สูง ในบางยี่ห้อ ด้าน อ.เจษฎา ออกมาเฉลยว่า การที่ค่า TDS สูงนั้น แปลว่าอะไร มันไม่อันตราย อย่างที่คนคิดกัน
ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ชี้แจงประเด็นค่า TDS ในน้ำเปล่า หลังมีชาวโซเชียล แชร์งานวิจัยของเด็กญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในไทย นำน้ำดื่มบรรจุขวดยี่ห้อต่าง ๆ ที่ขายในไทย มาวัดค่า TDS ซึ่งน้ำสิงห์มี TDS สูงกว่ายี่ห้ออื่น พร้อมระบุว่า “ตารางเปรียบเทียบวัดความกระด้างน้ำดื่มไทย”
อ.เจษฎ์ ชี้แจงว่า ค่า TDS ไม่ใช่ค่า “น้ำกระด้าง” และที่น้ำสิงห์มี TDS สูงกว่ายี่ห้ออื่น ก็ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ได้เป็นอันตรายอะไร
ผลที่ออกมาน้ำสิงห์มีค่า TDS สูงที่สุดคือ 305 ppm รองลงมาคือ น้ำแร่มิเนเร่ 261 ppm และยี่ห้ออื่น ๆ ถัดลงมาเรื่อย ๆ จนถึงน้ำดื่มจิฟฟี่ 2 ppm
ประเด็นปัญหาของเรื่องนี้คือ ทางเพจได้บอกว่า ค่า TDS สูง บอกความเป็นน้ำกระด้าง และตารางนี้จึงเป็นการเรียงลำดับจากน้ำกระด้างมากไปน้อย พวกน้ำลำดับบน ๆ ที่กระด้างเยอะคือ TDS เยอะ ทำเอาหลายคนคอมเมนต์ถามว่า อย่างนี้น้ำดื่มสิงห์ก็เป็นน้ำกระด้างมากซิ แล้วดีหรือไม่ดีต่อการบริโภค ?
ซึ่งไม่ใช่นะครับ ค่า TDS คือ ค่าปริมาณของ ของแข็งที่ละลายอยู่ในน้ำ (Total Dissolved Solid) เป็นคนละค่ากับค่า “น้ำกระด้าง Water Hardness” และน้ำดื่มสิงห์ที่มีค่า TDS สูงกว่ายี่ห้ออื่น ก็ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มบรรจุขวด (คือไม่เกิน 500 ppm) สามารถบริโภคได้ทั่วไป
ค่า TDS นั้น จะวัดปริมาณรวมของของแข็ง ทั้งสารอนินทรีย์ สารอินทรีย์ทั้งหมด ที่ละลายอยู่ในของเหลว ทั้งแร่ธาตุ เกลือ โลหะ ไอออนที่ละลายในน้ำ สาหร่าย เศษพืช ซึ่งตามมาตรฐานน้ำดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ค่า TDS อยู่ที่ไม่เกิน 500 ppm ดังนั้นงานวิจัยวัดค่าออกมาได้ 305 ppm จึงนับว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่เป็นอันตรายต่อการบริโภค รวมทั้งไม่ใช่ค่าที่บอกความเป็น “น้ำกระด้างสูง” อีกด้วย
การที่น้ำดื่มสิงห์ น้ำแร่ และน้ำดื่มอีกหลายยี่ห้อมีค่า TDS สูงกว่าอีกหลายยี่ห้อนั้น เป็นผลจากวิธีการผลิตน้ำบริสุทธิ์ที่แตกต่างกัน โดยน้ำดื่มกลุ่มนี้จะใช้วิธีการผลิตน้ำ ผ่านการนำน้ำจากธรรมชาติ (น้ำบาดาลในแหล่งน้ำใต้ดินของบริษัท) มาผ่านการกรองด้วยเส้นใยกรองอย่างละเอียด ที่เรียกว่า Ultrafiltration ทำให้ได้น้ำที่ยังคงมีแร่ธาตุต่าง ๆ อยู่มาก แต่ต้องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนด
ขณะที่ยี่ห้ออื่น ๆ ซึ่งมีค่า TDS ต่ำมากนั้น จะใช้วิธีการผลิตด้วยการระบบอาร์โอ (RO) ผ่านเครื่องกรองแบบออสโมซิสย้อนกลับผ่านเยื่อกรอง (Reverse Osmosis) ทำให้แร่ธาตุและของแข็งทุกอย่างในน้ำ ถูกกรองออกไปหมดจากน้ำ และค่า TDS จะน้อยมากจนใกล้ศูนย์
ดังนั้นโดยสรุป ค่า TDS ของน้ำดื่มนั้น มีกฎเกณฑ์มาตรฐานเพียงแค่ไม่เกิน 500 ppm ถ้ายี่ห้อไหนมีค่าสูง แต่ไม่เกินเกณฑ์นี้ สามารถนำมาบริโภคได้ตามปรกติครับ แต่จะส่งผลต่อรสชาติของน้ำที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับน้ำดื่มที่ผ่านระบบ RO จนไม่เหลือแร่ธาตุอะไร