- 23 ก.ย. 2567
หมอหมู รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี โพสต์ข้อความ เปิดงานวิจัย การเลี้ยงแมว อาจเสี่ยงต่อ โรคจิตเภท เพิ่มขึ้น 2 เท่า ?
คนเลี้ยงแมวต้องอ่านแล้ว เมื่อล่าสุด หมอหมู รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ ระบุว่า การเลี้ยงแมว อาจเสี่ยงต่อ โรคจิตเภท เพิ่มขึ้น 2 เท่า ?
จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Schizophrenia Bulletin เมื่อ 30 เม.ย. 2024 ซึ่งนักวิจัยชาวออสเตรเลีย ได้ดำเนินการวิเคราะห์งานวิจัย 17 ฉบับ ที่ตีพิมพ์ในช่วง 44 ปีที่ผ่านมา จาก 11 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร พบว่า “มีความเชื่อมโยงระหว่างการเลี้ยงแมว กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตเภท”
แนวคิดที่ว่าการเลี้ยงแมวอาจเกี่ยวข้องกับ ความเสี่ยงของ โรคจิตเภท นี้ ได้รับการเสนอครั้งแรกในการศึกษาวิจัยในปี 1995 โดยพบว่าการสัมผัสกับปรสิตที่เรียกว่าToxoplasma gondiiเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่การวิจัยจนถึงขณะนี้ได้ข้อสรุปที่หลากหลาย
การศึกษาที่ผ่านมา พบว่า การอยู่ใกล้แมวตั้งแต่เด็กอาจทำให้เด็กมีความเสี่ยงเป็นโรคจิตเภทมากขึ้น
เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น McGrath และทีม ได้ทำการตรวจสอบและวิเคราะห์งานวิจัยทั้งหมดในหัวข้อเหล่านี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยพบว่า
1. T. gondii เป็นปรสิตที่ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ผ่านเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุกหรือน้ำที่ปนเปื้อน การถูกแมวที่ติดเชื้อกัดหรือสัมผัสอุจจาระของแมวที่ติดเชื้อ ก็สามารถแพร่เชื้อ T. gondii ได้
2. นักวิจัยยังคงค้นพบผลข้างเคียงแปลกๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ T. gondii โดยเมื่อเชื้อเข้าไปในร่างกายของเรา เชื้อจะสามารถแทรกซึมเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางและมีอิทธิพลต่อสารสื่อประสาท ปรสิตชนิดนี้มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพการเกิดอาการทางจิต และความผิดปกติทางระบบประสาทบางอย่าง รวมถึงโรคจิตเภท
3. นักวิจัยพบว่า มีความเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการเลี้ยงแมวก่อนอายุ 13 ปี (ส่วนใหญ่อายุ 9 ถึง 12 ปี) กับการเกิดโรคจิตเภทในภายหลัง
4. การวิเคราะห์หลังจากปรับค่าตัวแปรร่วมแล้ว พบว่าบุคคลที่สัมผัสกับแมวจะมีโอกาสเป็นโรคจิตเภทเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า
อย่าพึ่งเชื่อและตื่นตระหนกกับงานวิจัยนี้นะครับ ในความเห็นส่วนตัว จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น โดยใช้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนจำนวนมาก เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแมวในฐานะปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความผิดปกติทางจิต ครับ