- 23 ก.ย. 2567
นโยบายแก้ไขหนี้ทั้งระบบ เร่งแก้หนี้บ้านหนี้รถ เสริมสภาพคล่องสินเชื่อ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
นโยบายแก้ไขหนี้ทั้งระบบ ของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร โดย เพจเฟซบุ๊ก พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุว่า นโยบายแก้ไขหนี้ทั้งระบบ เร่งแก้หนี้บ้านหนี้รถ เสริมสภาพคล่องสินเชื่อ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อ
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องหนี้สิน ค่าครองชีพ รวมถึงความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ปัญหาที่เร่งด่วนประการหนึ่ง คือการเร่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมาเพื่อนำความหวังของคนไทยกลับมาโดยเร็ว
นโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบได้ดำเนินต่อเนื่องมาจากสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน โดยเฉพาะในภาวะเร่งด่วนนี้ จะต้องเร่งแก้ปัญหากลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ซึ่งจะต้องช่วยลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ที่เป็นหนี้เสียและกำลังจะเป็นหนี้เสีย ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์
อีกทั้งจะยังให้ความรู้ด้านการเงินควบคู่ไปกับการส่งเสริมการออมเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทย โดยต้องไม่ขัดวินัยการเงินการคลัง และไม่ทำให้เกิดภาวะทางจริยธรรม (Moral Hazard) ด้วย
มาตรการแก้หนี้ ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน
หนี้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ NPL รหัส 21
ให้ธนาคารรัฐติดตามทวงถามเพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย จากนั้นก็เข้าไปปรับปรุงโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้เป็นเวลา 1 ปี ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และลดเวลาติดแบล็คลิสต์เครดิตบูโรจาก 8 ปี เหลือ 6 ปี
หนี้ข้าราชการ ครู ตำรวจ
โดยจะให้มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปกำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ โดยจะต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้ประจำเดือนแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 รวมถึงขยายเวลาชำระหนี้สูงสุดได้ถึง 80 ปี
หนี้บัตรเครดิต หนี้เสียสินเชื่อส่วนบุคคล หนี้เสียบัตรกดเงินสด
หากลูกหนี้มีหนี้ค้างเกิน 120 วัน สามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM โดยการกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีการรวมหนี้ทั้งหมดให้เป็นก้อนเดียว และให้กลับมาชำระหนี้ใหม่ด้วยดอกเบี้ยผ่อนปรนร้อยละ 3-5 ผ่อนยาว 10 ปี
หนี้เกษตรกร
รัฐบาลมีนโยบายพักหนี้เกษตรกรเป็นเวลา 3 ปี สำหรับลูกหนี้วงเงินไม่เกิน 300,000 บาท พักทั้งต้นและดอก และหากลูกหนี้กลับมาชำระหนี้แล้วก็สามารถรับวงเงินปล่อยกู้เพิ่มได้ 1 แสน ส่วนเกษตรกรที่มีหนี้เกินกว่า 3 แสนบาท ภาครัฐก็จะมีนโยบายออกมาช่วยเหลือในลำดับถัดไป
หนี้ กยศ. รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ทั้งระบบ โดยปรับอัตราดอกเบี้ยลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 1 เบี้ยปรับลดลงเหลือร้อยละ 0.5 เงินชำระหนี้ต้องหักเงินต้น-ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับตามลำดับ ปลดภาระผู้ค้ำประกัน รวมถึงขยายเวลาการผ่อนยาวถึง 15 ปี นอกจากนี้ หากลูกหนี้ที่ถูกฟ้องก็สามารถเข้าโครงการไกลเกลี่ยหนี้ก่อนฟ้องได้ด้วย
หนี้นอกระบบ เป็นหนี้ที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยมีนโยบายการเจรจากับเจ้าหนี้ จัดให้มีการลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบโดยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ มีการเจรจาเจ้าหนี้-ลูกหนี้ จนเกิดผลสำเร็จ จำนวน 143,979 รายจากที่เปิดให้ประชาชนมาลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 153,400 ราย เจรจามูลหนี้ลดลงรวม 1,168.207 ล้านบาท และยังเหลืออีก 9,412 ราย อยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ย
มาตรการแก้หนี้ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
หนี้บ้าน เป็นหนี้ครัวเรือนที่รัฐบาลจับตาเป็นพิเศษเพราะเป็นหนี้ที่มีแนวโน้มการค้างชำระเพิ่มขึ้น โดยรัฐจะได้ร่วมมือกับธนาคารรัฐ คือธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)ปล่อยสินเชื่อบ้านที่ 34% ของหนี้บ้านทั้งระบบ โดยได้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม จัดโครงการคลินิกแก้หนี้เพื่อไกล่เกลี่ยหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่กำลังจะเป็นหนี้เสีย และที่เป็นหนี้เสียไปแล้วโดย ยืดเวลาผ่อนถึงอายุ 80 ส่วนข้าราชการยืดได้ถึง 85 ปี ผ่อนต่ำปี 1-5 ปีแรกแค่หลักพันบาทต่องวดเป็นต้น
หนี้รถ เน้นกลุ่มลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้ลีสซิ่ง โดยเฉพาะรถกระบะและรถจักรยานยนต์ เพราะเป็นเครื่องมือทำมาหากิน ให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ออกประกาศเพื่อช่วยลูกหนี้เช่าซื้อโดย “กำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ กำหนดเพดานดอกเบี้ยผิดนัด ลดดอกเบี้ยเมื่อนำเงินมาปิดบัญชี” ตามความเหมาะสม