เปิด "46จังหวัด" นำร่อง  โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่

นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เปิดเผยรายชื่อ 46จังหวัดนำร่อง และจะครบทุกจังหวัดภายในปีนี้

เศรษฐกิจแกร่ง คนต้องแข็งแรง 30 บาทรักษาทุกที่ เข้าถึงได้ด้วยนวัตกรรม พร้อมรับมือโจทย์อนาคต 

สุขภาพของผู้คนเป็นรากฐานความแข็งแรงของประเทศชาติ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายที่เปลี่ยนความคิดและความฝันของคนไทยเมื่อครั้งที่เราก้าวเข้าสู่ช่วงปี 2000 ตัวนโยบายที่เริ่มต้นในปี 2001 กระจายบริการสุขภาพ ทำให้ภาพรวมชองสุขภาพคนไทยเช่นอายุขัย อัตราการรอดชีวิตของทารกในช่วงห้าขวบปีแรกเพิ่มสูงขึ้น ไปจนถึงลดภาวะการล้มละลายทางเศรษฐกิจจากค่าใช้จ่ายสุขภาพลดลง ทำให้ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาแรกที่เริ่มความฝันด้านสุขภาพที่ทั่วโลกจับตา

นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นสิ่งที่เรายังต้องพัฒนาและดำเนินนโยบายต่อ ทั้งเพื่อร่วมยกระดับบริการสาธารณสุขของไทยให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล แก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงและความแออัด ตลอดจนเราต้องพัฒนาปรับปรุงเพื่อเตรียมรับมือกับเงื่อนไขด้านสุขภาพใหม่ๆ โดยเฉพาะการคาดการว่าไทยจะเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยสุดยอดหรือ Super-aged society สังคมสูงวัยที่คาดว่าเราจะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากว่า 20% ภายในสิบปี

เพื่อรากฐานที่แข็งแรง ในคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2567 นายกรัฐมนตรีจะมุ่งสานต่อความสำเร็จของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยยกระดับสู่โครงการ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ มุ่งยกระดับระบบสุขภาพไทยด้วยนวัตกรรมตั้งแต่การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ขยายเครือข่ายบริการปฐมภูมิ(Primary Care) พัฒนาระบบแพทย์ทางไกล(Telemedicine) ทั้งยังให้คำมั่นสานต่อโครงการฉีดวัคซีน HPV เพิ่มการรักษาเกี่ยวกับยาเสพติดและสุขภาพจิต

การปรับปรุงยกระดับนี้จะช่วยขยายการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทยที่หลากหลาย ลดเวลาในการเข้าใช้ ช่วยลดค่าใช้จ่าย ตอบสนองกับการมาถึงของสังคมสูงวัย รวมถึงช่วยลดความแออัดของพื้นที่โรงพยาบาลลง เป็นการปรับบริการสาธารณสุขโดยก้าวไปสู่การบริการแบบเน้นการป้องกัน ให้ความรู้และสร้างความตระหนักด้านสุขภาพ

#30บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคเดิม สู่โครงการ ‘30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ เป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ และเป็นทั้งการจัดการรวมฐานข้อมูลสุขภาพ และรวมความร่วมมือของสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เปิดให้บริการ ‘หน่วยบริการปฐมภูมิ’ หรือ Primary Care คือประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่หลากหลาย ใกล้ตัวมากขึ้น เจ็บป่วยเล็กน้อยไม่ต้องไปโรงพยาบาล

ผู้ป่วยหรือผู้ใช้สิทธิ 30 บาทสามารถมองหาสติกเกอร์ 30 บาทรักษาทุกที่ เข้ารับบริการได้ตั้งแต่ร้านยาคุณภาพ คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพ คลินิกเทคนิกการแพทย์ พร้อมพัฒนาระบบแพทย์ทางไกล พบแพทย์ได้ง่ายทั้งจากแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ทั้งยังมีระบบการนัดหมายที่มีประสิทธิภาพขึ้นด้วยระบบดิจิทัล และมีระบบจัดส่งยาถึงบ้าน ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงข้อมูล เช่นสิทธิการรักษาและข้อมูลการรักษา สามารถเข้ารับบริการได้ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว

การยกระดับนี้ทำให้การเข้าถึงบริการสุขภาพสะดวกขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและตอบสนองเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ลดขั้นตอน นำไปสู่การลดความแออัดของโรงพยาบาล ความใกล้ชิดของประชาชนที่มีต่อระบบสุขภาพนำไปสู่การสาธารณสุขเชิงป้องกัน เน้นความตระหนักรู้และส่งเสริมสุขภาพก่อนการเกิดโรค นำไปสู่สังคมและผู้คนที่มีสุขภาพและสุขภาวะแข็งแรงต่อไป

#นำร่อง46จังหวัด และครบทุกจังหวัดปีนี้

โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นโครงการของปี พ.ศ. 2567 หลังจากเริ่มต้นในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปัจจุบันโครงการอยู่ในระยะที่ 4 ในเดือนกันยายนจะเปิดพื้นที่บริการของกรุงเทพมหานคร ในระยะนี้มีจังหวัดนำร่องรวมกรุงเทพมหานครเป็น 46 จังหวัด โดยตามแผนจะขยายพื้นท่ีให้บริการครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศภายในสิ้นปี

จังหวัดนำร่องตามแผนมีดังนี้

ระยะที่ 1 ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี นราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

ระยะที่ 2 ครอบคลุม 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

ระยะที่ 3 ครอบคลุม 6 เขตสุขภาพ 33 จังหวัด ได้แก่ เขต 1 เขต 3 เขต 4 เขต 8 เขต 9 และเขต 12 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

เขตสุขภาพที่ 1 เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน

เขตสุขภาพที่ 3 กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท อุทัยธานี

เขตสุขภาพที่ 4 สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี

เขตสุขภาพที่ 8 อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย บึงกาฬ

เขตสุขภาพที่ 9 ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์

เขตสุขภาพที่ 12 สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา

ระยะที่ 4 ครอบคลุม กรุงเทพมหานคร เปิดตัวในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2567 นี้

และขยายให้ครบ 77 จังหวัดภายในปี พ.ศ. 2567

#7+10 เชื่อมโยงวิชาชีพและบริการนวัตกรรม

ในการเปิดตัว “30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร” หัวใจสำคัญคือการเปิดบริการที่เราเรียกว่าบริการปฐมภูมิ เป็นการกระจายพื้นที่บริการสุขภาพที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ก่อนที่จะไปเข้ารับบริการในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เน้นการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ลดขั้นตอนการไปโรงพยาบาล รวมถึงการฟื้นฟูหลังเจ็บป่วย หน่วยบริการปฐมภูมิที่เริ่มให้บริการเป็นทั้งความร่วมมือกันของสภาวิชาชีพทั้ง 7 สภา และการขยายการบริการเชิงรุกด้วยนวัตกรรมอีก 10 หน่วยบริการ

หน่วยบริการ 7 ประเภทที่เข้าร่วมให้บริการ เป็นหน่วยบริการจากสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้เรามองเห็นความหมายของการ ‘ไปหาหมอ’ ที่มีความหลากหลายและลดขั้นตอนลง ไม่ต้องเดินทางไปหาที่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว โดย 7 หน่วยบริการเริ่มต้นตั้งแต่ร้านขายยาคุณภาพ ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการสามารถเข้าพบปรึกษาเภสัชกรและรับยาเพื่อการรักษาเบื้องต้นได้ หรือ หน่วยบริการเทคนิกการแพทย์ ให้บริการเจาะเลือดตามใบสั่งแพทย์และบริการตรวจคัดกรองเช่นมะเร็งลำไส้และตรวจการตั้งครรภ์

หน่วยบริการต่างๆ จะเชื่อมโยงวิชาชีพเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาตั้งแต่การคัดกรอง การดูแลระหว่างทาง ไปจนถึงการฟื้นฟูหลังเจ็บป่วย ตั้งแต่คลินิกเวชกรรมทั่วไป คลินิกการพยาบาล คลินิกทันตกรรมไปจนถึงคลินิกกายภาพและคลินิกแพทย์แผนไทย

นอกจากหน่วยบริการปฐมภูมิจาก 7 สภาวิชาชีพแล้ว ทาง สปสช. ยังขยายหน่วยบริการนวัตกรรมนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานครอีก 10 หน่วยบริการ เป็นบริการเชิงรุก เน้นใช้นวัตกรรม และเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพด้วยนวัตกรรม นำไปสู่การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันและเข้าถึงพื้นท่ีที่ทั่วถึงมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง หลายหน่วยบริการเน้นการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาตอบสนองและขยายการเข้าถึง

ตัวอย่างหน่วยบริการเชิงรุก 10 หน่วย ได้แก่การใช้ระบบแพทย์ทางไกล(Telehealth, Telemedicine) มีระบบพบแพทย์ด้วย 4 แอปสุขภาพพร้อมจัดส่งยาถึงบ้าน โดยระบบแพทย์ทางไกลยังจะขยายจุดบริการด้วยนวัตกรรมและความร่วมมือ เช่นการให้บริการในห้องพยาบาลของโรงเรียนมัธยม เปิดจุดบริการสุขภาพและการป้องกันโรงเชิงรุกในห้างสรรพสินค้า การติดตั้งตู้เทเลเมดิซีน ตู้คีออสที่มีระบบตรวจเบื้องต้นและสามารถพบแพทย์ทางไกลซึ่งจะติดตั้งในชุมชนและห้างสรรพสินค้า ขยายการให้บริการแพทย์ทางไกลในพื้นที่ที่สะดวกขึ้นตั้งแต่ในปั้มน้ำมัน สถานีรถไฟฟ้าและสนามบิน

ทั้งยังขยายคลินิกบริการฟอกไตและให้บริการเครื่องล้างไตอัตโนมัติ รวมถึงเพิ่มบริการเชิงรุกถึงในชุมชนเช่นรถเวชกรรมและรถทันตกรรม

สำหรับผู้สนใจ สามารถตรวจสอบหน่วยบริการเอกชน 30 บาทรักษาทุกที่ได้ที่ คลิก หรือโทร สายด่วน สปสช. 1130

การสานต่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่ จึงเป็นการยกระดับความแข็งแรงพื้นฐาน ผ่านการมีสุขภาพที่ดี พร้อมรับมือทั้งความเปลี่ยนแปลงและเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ การพัฒนายกระดับทั้งการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทย และช่วยให้คุณภาพบริการสาธารณสุขเป็นไปตามมาตรฐานสากล ลดความแออัดของพื้นที่ให้บริการคือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ลง ทั้งยังเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพเข้าหากันด้วยระบบดิจิทัล เข้าถึงบริการได้สะดวกรวดเร็วและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เปิด "46จังหวัด" นำร่อง  โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่