- 27 ก.ย. 2567
สืบนครบาล จับกุม “สองสาวแสบ”นำทองปลอมตระเวนจำนำร้านทอง ใช้ ’ข้อต่อทองแท้’ มาใส่ไว้เพื่อให้ร้านตรวจจนเชื่อว่าเป็นทองแท้
จับกุม “สองสาวแสบ”นำทองปลอมตระเวนจำนำทอง วันที่ 26 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัว 1. น.ส.ชนิดตา แบนเนียร์ อายุ 39 ปี ที่อยู่ 1/10 โพธิแก้ว 3 แยก 18 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ผู้ต้องหาตามหมายจับ 6 หมายจับ
(1.)หมายจับศาลจังหวัดสมุทรสาคร ที่ จ.190/2567 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2567
ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกงทรัพย์ ”
(2.)หมายจับศาลแขวงชลบุรี ที่ 6/2567 ลงวันที่ 19 มกราคม 2567
ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกงทรัพย์ ”
(3.)หมายจับศาลอาญามีนบุรี ที่ จ.978/2567 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2567
ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกงทรัพย์ ”
(4.)หมายจับศาลจังหวัดกาญจนบุรี ที่ จ.762/2566 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2566
ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกง ”
(5.)หมายจับศาลอาญามีนบุรี ที่ จ.981/2567 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2567
ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกงทรัพย์ ”
(6.)หมายจับศาลแขวงราชบุรี ที่ 71/2567 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2567
ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกง ”
จับกุมคอนโด ถ.ลาดพร้าว 101 แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร
2. นางสุกัญญา สำโรงทอง อายุ 39 ปี ที่อยู่ 19 ม.9 ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ นางสุกัญญา อายุ 39 ปี ตามหมายจับศาลแขวงนนทบุรี ที่ 148/2567 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ ” จับกุมหน้าโรงงานน้ำแข็ง แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร
พฤติการณ์ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2566 มีนางสุกัญญา ผู้ต้องหาในคดีนี้ กับพวก นำสร้อยคอทองคำ ลายสี่เสา น้ำหนัก 45.75 กรัม (หรือ 3 บาท) มาจำนำที่ร้านทองชื่อดัง สาขาเซ็ลทรัลแจ้งวัฒนะ ผู้กล่าวหาเป็นคนรับจำนำทองดังกล่าว ได้ทำการตรวจสอบทองดังกล่าวแล้ว โดยวิธีการชั่งน้ำหนัก และสองดูเปอร์เซ็นต์ทองได้ความบริสุทธิ์ของทอง 96.5 เปอร์เซ็นต์ และได้ตรวจสอบตราส่งของร้านทองยี่ห้อหนึ่ง จากนั้นผู้กล่าวหาได้นำหัวจรวดและตะขอไปฝนที่หินเพื่อตรวจสอบเปอร์เซ็นทอง และเช็คการเคลือบทอง และหยดน้ำกรด น้ำเกลือ เพื่อตรวจสอบเปอร์เซ็นทอง ก็เป็นปกติไม่ลอก ไม่เกิดปฏิกิรยาใดๆ ส่วนตัวสร้อยคอ ผู้กล่าวหาได้นำไปตะไบ และหยดด้วยน้ำกรดน้ำเกลือก็ไม่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้น เชื่อได้ว่าเป็นทองแท้ ผู้กล่าวหาจึงได้ทำการรับจำนำไว้ในราคา 90,827 บาท ผู้กล่าวหาจึงได้ให้ผู้ต้องหาเซ็นเอกสาร ลงลายมือชื่อในตั๋วจำนำ และรับรองสำเนาบัตรประชาชนของผู้ต้องหา จากนั้นผู้กล่าวหา จึงได้ทำการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชั่น ชื่อบัญชี บริษัทผู้เสียหายในคดีนี้ ไปยังบัญชีธนาคาร ชื่อบัญชี นางสาวสุกัญญา เป็นเป็นเงินจำนวน 90,827 ให้ผู้ต้องหาในคดีนี้ หลังจากนั้นเมื่อผู้ต้องหาได้รับเงินแล้วได้เดินออกจากร้านไป
ต่อมาผู้กล่าวหาได้รับแจ้งจากสำนักงานใหญ่ว่า กลุ่มผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นกลุ่มมิจฉาชีพนำทองคำปลอมมาจำนำ ผู้กล่าวหาจึงได้ใช้ไฟเป่าทองที่รับจำนำดู ปรากฏว่า เมื่อใช้ไฟเป่าหัวจรวดหลุดออกจากตัวเส้นทอง เนื่องจากเป็นทองปลอม ใช้กาวเชื่อมติดไว้ หากเป็นทองจริงจะไม่หลุดออก เว้นแต่จะโดนความร้อนจนหลอมละลาย เมื่อทราบจึงได้รายงานหัวหน้า และรวบรวมพยานหลักฐาน มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องทากับพวก จนคดีจะถึงที่สุด
ในชั้นจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 2 คนรับสารภาพว่าได้นำทองปลอม (ตะขอทองแท้)มาตระเวนขายตามร้านทองทั่วกรุงเทพและพื้นที่ต่างจังหวัดจริง โดยรับมาจากนายเบิร์ดไม่ทราบชื่อสกุลจริง ให้ช่วยนำทองหนัก 2 บาท 3 บาท ไปขาย ไปจำนำให้ ให้ค่าจ้างจากน้ำหนักทองบาทละ 5,000 บาท ซึ่งทางตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อ อยู่ระหว่างขยายผลหาผู้บงการต่อไป จากนั้นนำตัวผู้ต้องหาที่1 นำส่งไปยัง สภ.เมืองสมุทรสาคร เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
ผู้ต้องหาที่ 2 ส่งพนักงานสอบสวน สภ.ปากเกร็ด ดำเนินคดีตามกฎหมาย
ด้าน พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ขอเตือนภัยผู้ประกอบการร้านค้าและประชาชน หลังจากพบการปลอมแปลงโลหะทองคำรูปแบบใหม่ และใช้วิธีนำข้อต่อทองแท้มาใส่ไว้ เพราะร้านทองจะตรวจสอบเบื้องต้นที่ตะขอเพียงอย่างเดียว จึงทำให้หลงเชื่อว่าเป็นทองแท้ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะสามารถตรวจสอบทองคำของเอกชนได้ ต่อเมื่อวัตถุพยานชิ้นนั้นเป็นคดีความทางอาญาหรือเป็นคดีทางแพ่งที่ศาลสั่งให้มีการตรวจสอบแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ขอเตือนภัยไปยังพี่น้องประชาชนว่าขณะนี้มูลค่าทองคำบาทละกว่า 40,000 บาท การที่พี่น้องประชาชนจะไปซื้อทองคำและร้านทองที่รับซื้อทองโรงรับจำนำขอให้ไปซื้อที่ร้านที่มีชื่อเชื่อถือได้ และมีตราสมาคมผู้ค้าทองคำ