"แท่งปริศนา" โผล่น่านฟ้า อุบลราชธานี ล่าสุด อ.เจษฎ์ เผยแล้ว มันคืออะไร

แท่งปริศนา โผล่น่านฟ้า อุบลราชธานี ล่าสุด "อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาเปิดข้อมูล ไขข้อข้องใจแล้ว

แท่งปริศนา โผล่น่านฟ้า อุบลราชธานี เกี่ยวกับเรื่องนี้ "อ.เจษฎ์ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุ

"แท่งปริศนา" โผล่น่านฟ้า อุบลราชธานี ล่าสุด อ.เจษฎ์ เผยแล้ว มันคืออะไร

"แท่งอีหยังครับ ที่อุบลราชธานี ?"

ตอบคำถามหลายๆ ท่านที่ส่งมาวันนี้ครับ จากกรณีที่เพจ "มีด่าน อุบลราชธานี" โพสต์ภาพเมื่อเช้านี้ เป็นภาพวิวท้องฟ้า มีเมฆมาก และมีสีเหลือบสีรุ้ง โดยความแปลกคือ มีเงาสีดำๆ คล้ายแท่ง ปรากฏอยู่ในภาพด้วย

พร้อมแคปชั่นว่า "#แท่งอีหยั่งครับ เมื่อวานเวลา 17.35 นาที ถนนอุบลเขื่องใน มองบนทองฟ้ามีหลายสีสวยมากค่ะ แต่ถ่ายไปติดภาพเป็นแท่งอะไรไม่รู้ค่ะ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นนะคะ พอเอารูปมาดู เป็นแบบนี้เลยอะไร ลำแสงอะไรน้อ ก็เลยส่งมาให้ดูค่ะ"

ถ้าภาพถ่ายนี้เป็นภาพจริง ไม่มีการตัดต่ออะไร ก็พอจะวิเคราะห์เรื่องนี้ ได้ว่าประการแรก วิวเมฆสีเหลือบๆ นี้ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า "หมวกเมฆสีรุ้ง" เห็นได้บ่อยๆ เกิดจากแสงอาทิตย์ที่มากระทบกับผลึกน้ำแข็งในก้อนเมฆ และเกิดการแทรกสอดของแสงสีต่างๆ จนเห็นเหมือนเป็นสีรุ้ง

.... ซึ่งในโพสต์ดังกล่าว ก็มีอีกหลายคนที่มาคอมเม้นต์พร้อมรูปถ่ายทำนองเดียวกัน และเห็นชัดเจน ว่าเป็นหมวกเมฆสีรุ้ง (ดูคำอธิบายเรื่อง หมวกเมฆสีรุ้ง ได้ที่ข่าวด้านล่าง)

แต่สำหรับบริเวณที่ดูเป็น "แท่งสีดำ" ประหลาดนั้น ยังไม่ชัดเจนและน่าสงสัยอยู่ว่าคืออะไรกันแน่ ? เพราะผู้โพสต์บอกว่า มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ถ่ายติดมา ?

คือถ้ามี "เงาสีดำ" บนท้องฟ้า เหมือนเมฆถูกแหวกออก และมองได้ด้วยตาเปล่าเนี่ย ก็อาจจะเป็นปรากฏการณ์ "ดิสเทรล distrail" ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามกับ "คอนเทรล contrail" หรือเมฆท้ายเครื่องบิน ครับ

ดิสเทรล เป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ แต่หายาก ไม่พบบ่อยเหมือนกับ คอนเทรล (ที่เราเห็นเป็นแนวเมฆเส้นยาวบนท้องฟ้า เกิดจากผลของเครื่องยนต์เจ็ตเครื่องบิน และหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า เป็นแนวจรวดยิงผ่าน) ลักษณะของดิสเทรล จะเป็นช่องตัดผ่านชั้นของเมฆ เหมือนเมฆถูกแหวกออก 

"แท่งปริศนา" โผล่น่านฟ้า อุบลราชธานี ล่าสุด อ.เจษฎ์ เผยแล้ว มันคืออะไร

ดิสเทรล. เกิดขึ้นได้เมื่อเครื่องบิน บินผ่านชั้นบางๆ ของเมฆ และความร้อนจากเครื่องยนต์ได้ทำให้ก้อนผลึกน้ำแข็งในเมฆ ระเหยกลายเป็นไอน้ำ เลยเห็นเป็นช่องตัดผ่านเมฆ // หรืออีกทางหนึ่ง เกิดขึ้นระหว่างที่เครื่องบินบินผ่านชั้นของเมฆที่มีหยดน้ำเย็นจัดถึงจุดเยือกแข็ง (แต่ยังไม่กลายเป็นผลึกน้ำแข็ง) แล้วความปั่นป่วนของกระแสลมที่เกิดขึ้นขณะเครื่องบินผ่าน กระตุ้นให้กลายเป็นน้ำแข็ง หล่นลงสู่เมฆชั้นล่าง เลยเห็นเป็นช่อง

แต่ๆๆ อย่างที่บอกไปแล้วว่า ถ้าเป็น distrail จริง ก็น่าจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าครับ ... เรื่องนี้ คงยังเป็นปริศนาต่อไปว่าเกิดจากอะไรแน่ (หวังว่าจะไม่ใช่ภาพตัดต่อ หรือเป็นความผิดปรกติของกล้องถ่ายรูป นะครับ)

ภาพและข้อมูลเรื่อง distrail จาก คลิก

---------------------

(ข่าว) รู้จัก! ปรากฏการณ์ “หมวกเมฆสีรุ้ง”

ช่วงเย็นวันอังคารที่ผ่านมา หากใครได้มีโอกาสมองท้องฟ้า จะเห็นว่าท่ามกลางเมฆดำทะมึนกลับมีเมฆหลากสีสวยแปลกตาอย่างที่เรียกว่าอาจไม่เคยเห็นมาก่อน และเพิ่งมารู้ว่าเมฆสีสวยที่เห็น นี่คือ “หมวกเมฆสีรุ้ง” ก่อนที่จะมีฝนตกหนักหลายชั่วโมงตามมาในเมืองกรุง

ทั้งนี้ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุ

“มาทำความรู้จักกับ #หมวกเมฆสีรุ้ง กันสักนิด ภาพเหล่านี้ไม่ใช่ภาพ abstract art ไม่ใช่ CG ไม่ใช่ภาพเนบิวลาจากห้วงอวกาศลึก แต่เป็นภาพจริงที่ถ่ายจากบนพื้นโลกของเรา จากกทม. เมื่อเย็นวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมานี่เอง หากใครที่อยู่แถว กทม. และได้มีโอกาสแหงนหน้ามองขึ้นไปบนฟ้า อาจจะพบปรากฏการณ์เมฆหลากสีดังภาพเหล่านี้

ปรากฏการณ์ที่เห็นนี้ เป็นปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยา ที่เกิดขึ้นได้ แม้จะไม่บ่อยนัก เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "Iridescent Pileus Cloud"

Pileus Cloud นั้นมาจากภาษาละติน แปลว่า "หมวก" เมฆหมวกเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีอากาศยกตัวขึ้นในแนวดิ่ง เช่น บนยอดเขา หรืออย่างในกรณีนี้ก็เกิดขึ้นจากเมฆ Cumulonimbus ลอยตัวขึ้น เมื่อมีกระแสอากาศลอยตัวขึ้นในแนวดิ่ง ชั้นอากาศที่มีความชื้นเบื้องบนจึงถูกยกตัวขึ้น และควบแน่นเป็นหยดน้ำ เกิดขึ้นเป็นเมฆที่ดูเหมือนจะ "สวม" อยู่บนเมฆอีกทีหนึ่ง เราสามารถยืนยันได้ว่าเมฆหมวกเหล่านี้อยู่สูงกว่าเมฆเบื้องล่างจากการที่เงาของเมฆเบื้องล่างทอดขึ้นไปบนเมฆหมวกเหล่านี้

ส่วนปรากฏการณ์ที่เกิดเป็นสีรุ้งนั้น เรียกว่า "Iridescent Cloud" หรือ "Cloud Iridescence" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางแสงที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศ คล้ายกับรุ้งกินน้ำหรือดวงอาทิตย์ทรงกลด

แต่ในขณะที่รุ้งกินน้ำนั้นมีรูปแบบสีที่ตายตัวชัดเจน และทำมุมคงที่กับดวงอาทิตย์ เมฆสีรุ้งนี้นั้นซับซ้อนกว่ามาก รุ้งกินน้ำนั้นเกิดขึ้นจากการสะท้อนและหักเหของแสง เมื่อหยดน้ำหรือผลึกน้ำแข็งในอากาศ ทำหน้าที่คล้ายกับปริซึมขนาดเล็กจำนวนมากที่คอยสะท้อนอยู่ สีของแสงที่จะสามารถสังเกตเห็นได้จึงขึ้นอยู่กับดัชนีหักเหของน้ำ รูปทรงเรขาคณิตของหยดน้ำ (ทรงกลม) หรือผลึกน้ำแข็ง และมุมตกกระทบของแสงอาทิตย์กับมุมมองของผู้สังเกต

แต่ปรากฏการณ์เมฆสีรุ้งนั้น เกิดขึ้นจากคุณสมบัติแทรกสอดของแสง โดยจะเกิดขึ้นได้เมื่อหยดน้ำหรือผลึกน้ำแข็งมีขนาดที่เล็กมากๆ มีขนาดที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันสม่ำเสมอ และอยู่เป็นแนวบางๆ ไม่หนาจนเกินไป ซึ่งในบางครั้งปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิด Pileus Cloud นั้นก็สร้างสภาพแวดล้อมที่พอเหมาะที่จะเกิดเงื่อนไขเหล่านี้ได้

แสงที่เราเห็นนั้นจึงเกิดขึ้นจากการที่หยดน้ำขนาดจิ๋วเป็นจำนวนมาก มีระยะห่างกันพอดีให้แสงสีใดสีหนึ่งของแสงอาทิตย์เกิดการแทรกสอดกันเสียจนมีเพียงสีเดียวที่สามารถส่องมาทิศทางเราได้ ในขณะที่แสงที่มีความยาวคลื่นต่างไปเล็กน้อยจะไปปรากฏที่มุมที่ต่างกันออกไป จึงสร้างภาพปรากฏคล้ายกับสีรุ้ง เช่นเดียวกับที่เห็นบนเปลือกหอยมุก คราบน้ำมันบนผิวน้ำ หรือฟองสบู่

ภาพที่เห็นทั้งหมดนี้เป็นภาพที่ถ่ายเอาไว้โดยกล้องถ่ายภาพด้วยตัวผมเอง ไม่ได้มีการตัดต่อใดๆ ทั้งสิ้น หลายๆ ภาพลองซูมให้เห็นรายละเอียดใกล้ๆ ซึ่งพอซูมดูแล้วภาพที่เห็นก็แปลกตาและดู surreal ดีราวกับเป็นภาพ abstract art อะไรสักอย่างที่ธรรมชาติเป็นผู้สร้างสรรค์

ภาพและข้อมูล : ดร. มติพล ตั้งมติธรรม - ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

"แท่งปริศนา" โผล่น่านฟ้า อุบลราชธานี ล่าสุด อ.เจษฎ์ เผยแล้ว มันคืออะไร