- 24 ต.ค. 2567
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อมูล เตือน Global Warming kills them all หญ้าทะเลหายไปเป็นหมื่นๆ ไร่ พะยูนล้มตายดุจใบไม้ร่วง แค่ 22 เดือนตายไปแล้ว 70 ตัว
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง หาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความน่าตกใจ โดย ดร.ธรณ์ ระบุว่า Global Warming kills them all หญ้าทะเลหายไปเป็นหมื่นๆ ไร่ พะยูนล้มตายดุจใบไม้ร่วง แค่ 22 เดือนตายไปแล้ว 70 ตัว
ข้อมูลที่เพื่อนธรณ์เห็นคือสถิติพะยูนตาย รวบรวมโดยกรมทะเล/กรมอุทยาน
เป็นกราฟที่ดูง่ายมาก แบ่งเป็น 2 ช่วง ภาวะปรกติ (2548-2561) พะยูนตายเฉลี่ย 13 ตัวต่อปี จำนวนพะยูนเพิ่มขึ้นช้าๆ
จากนั้นคือภาวะโลกเดือด เกิดวิกฤตหญ้าทะเลตาย แบ่งเป็น 2 ย่อย ปี 2562-2565 หญ้าในจังหวัดตรังเริ่มลดลง พะยูนเริ่มตายมากกว่าค่าเฉลี่ย (20.25 ตัว)
ผู้เชี่ยวชาญเริ่มเป็นกังวล เพราะจำนวนตายมากกว่าอัตราเกิด หากไม่อยากให้จำนวนพะยูนลดลง ขีดจำกัดคือห้ามตายเกิน 17 ตัว
เราทำหลายอย่างลุล่วง เช่น แผนพะยูนแห่งชาติ ประกาศเขตอนุรักษ์ทางทะเลทั้งจังหวัดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ยกระดับการสำรวจวิจัยช่วยชีวิต ฯลฯ
ทั้งหมดมีส่วนช่วยประคับประคอง แต่โลกเดือดไม่หยุด รุนแรงหนักขึ้น หญ้าทะเลตายเป็นพื้นที่กว้าง ทั้งจังหวัดตรัง กระบี่ และสตูล
ความตายยังเริ่มลามไปตามพื้นที่ใกล้เคียง
พะยูนกินหญ้าเป็นอาหารหลัก แม้กินอย่างอื่นได้บ้าง เช่น สาหร่าย แต่พะยูนไม่ได้ปรับตัวง่ายขนาดนั้น
พะยูนส่วนหนึ่งยังสู้ตายอยู่ที่เดิม อีกส่วนอพยพจากตรัง ส่วนหนึ่งขึ้นเหนือไปกระบี่-ภูเก็ต อีกส่วนลงใต้ไปสตูล
แต่จะไปไหน ความตายก็ติดตามไป วิกฤตหญ้าทะเลแผ่ขยายเป็นวงกว้าง
พะยูนที่ขึ้นเหนือไปสุดที่เกาะภูเก็ต/อ่าวพังงา เลยไปเป็นชายฝั่งเปิดโล่งของท้ายเหมือง/เขาหลัก ไม่มีหญ้าทะเลระหว่างทาง พะยูนไม่ชอบฝั่งที่มีคลื่นลมแรงแบบนั้น
พะยูนลงใต้ไปสตูล สุดชายแดนคือมาเลเซีย แต่แหล่งหญ้าทะเลขาดช่วง อาจมีบ้างที่ข้ามพรมแดนไป แต่ก็คงเป็นส่วนน้อย
พะยูนจึงติดอยู่ในกับดักแห่งความตาย หญ้าทะเลหมดไปเรื่อยๆ อาหารแทบไม่เหลือ
ข้อมูลจากกรมทะเลพบว่า พะยูนผอมลงอย่างเห็นได้ชัด หลายตัวป่วย จากนั้นก็จากไป
บางส่วนที่หนีไปแหล่งใหม่ ไม่คุ้นเคยอะไรเลย คนในพื้นที่ก็ไม่คุ้นกับที่จู่ๆ มีพะยูนเพิ่มขึ้นกระทันหัน
ความตายจึงเกิดขึ้น เรือชน ติดเครื่องมือประมง ฯลฯ ขณะที่เราพยายามใช้มาตรการต่างๆ พูดคุย แจ้งเตือน ขอร้อง
แต่ทุกอย่างเร็วมากเมื่อเทียบกับความสามารถในการรับมือของเราในปัญหาใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นนรก
ปี 66 พะยูนตาย 40 ตัว
ปี 67 พะยูนตาย 30 ตัว (ถึงวันที่ 23 ตค.)
ยังเหลืออีก 2 เดือนเศษ ไม่รู้ว่าตัวเลขจะเป็นเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆ คือค่าเฉลี่ยตอนนี้สูงถึง 35 ตัว/ปี มากเกิน 2 เท่าของภาวะปรกติ (13 ตัว/ปี) และมากขึ้นกว่าช่วงแรกของโลกร้อนอย่างเห็นได้ชัด (20 ตัว/ปี)
ที่สำคัญ ตัวเลข 35 ตัว/ปี มากกว่าขีดจำกัดพะยูนตาย 2 เท่า (17 ตัวต่อปี)
หมายความว่าอย่างไร ?
คำตอบง่ายๆ คือจำนวนพะยูนกำลังลดลงแบบดิ่งนรก เมื่อพ่อแม่ตาย อัตราเกิดยิ่งลดลง มันเด้งไปมา
ความเป็นไปได้ที่พะยูนในอันดามันจะเหลือเพียงน้อยนิด เป็นไปได้ในเวลาแค่ 7-8 ปีต่อจากนี้
น้อยนิดไม่ใช่หมด พะยูนคงไม่สูญพันธุ์จากอันดามัน เพราะเหลือ 1 ตัวก็ไม่เรียกว่าสูญพันธุ์
แต่โอกาสที่เราจะมีพะยูนในอันดามันเกิน 200 ตัวเหมือนในอดีต คงไม่มีอีกแล้ว อย่างน้อยในอีก 10-20 ปีข้างหน้า
ผมคิดว่าอีก 5-6 ปี ตัวเลขจากหลักร้อยจะเหลือหลักสิบ และจะคงตัวอยู่แถวนั้น เพราะหญ้าทะเลไม่ได้หมด แต่เหลือหรอมแหรม พอให้พะยูนหลักสิบกินได้
และนั่นคือความพินาศที่แท้จริงของพะยูนไทย อยู่กันมาเนิ่นนานเป็นร้อยๆ ปี ไม่เคยมีครั้งไหนที่พินาศในระดับนี้
ecosystem collapse คือความเสี่ยงอันดับ 3 ของโลกยุคปัจจุบัน/อนาคต
ตัวอย่างเป็นเช่นไร เมืองไทยเสี่ยงแค่ไหน
ทุกคำถามตอบได้ในเรื่องที่เพื่อนธรณ์เพิ่งอ่านไป
ความโหดร้ายยิ่งกว่านั้นคือเราแทบจะไม่รู้ว่าจะทำยังไง สู้ยังไง ในเมื่อความพินาศเกิดจากน้ำมือของคนทั้งโลก
เราก็คงต้องพยายามทำให้ดีที่สุด สำรวจพื้นที่พะยูนอยู่ใหม่ เร่งพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้คน ลดผลกระทบ หาทางฟื้นฟูหญ้าทะเลทั้งที่ความหวังริบหรี่
ทำเช่นนั้นเท่าที่ทำได้ ระหว่างน้ำตาตกใน
พร่ำบอกมาตลอด โลกร้อนมันโหดร้าย มันฆ่าปะการัง ฆ่าหญ้าทะเล ฆ่าน้องพะยูน
และกำลังฆ่ากำลังใจของคนรักทะเลไทยให้หมดไปอย่างช้าๆ
มันฆ่า… ทว่า “มัน” เริ่มต้นมาจากใคร
และสุดท้าย มันจะฆ่าผู้ให้กำเนิดมัน !
จะมีครั้งไหนที่คน บนผืนบนแผ่นดิน
โหดร้ายหัวใจทมิฬ แผ่นดินถูกพังยับเยิน
(ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า - เฉลียง)