เปิด10 จังหวัด คนจนเยอะสุดในไทย ภาคใต้นำโด่ง 2 จังหวัด ครองแชมป์ยาว 15 ปี

เปิด 10 จังหวัดที่มีคนจน มากที่สุดในประเทศไทย ตกใจภาคใต้มีสัดส่วนคนจนสูง พบ 2 จังหวัด ครองแชมป์ 5 อันดับแรก ยาวนาน 15 ปี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566 พบว่า สถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 มีจำนวน 3.79 ล้านคน ลดลงมาเหลือ 2.39 ล้านคน เป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรม และโครงการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในปี 2565

 

เปิด10 จังหวัด คนจนเยอะสุดในไทย ภาคใต้นำโด่ง 2 จังหวัด ครองแชมป์ยาว 15 ปี
 

จากรายงานพบว่า จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่

  1. ปัตตานี
  2. นราธิวาส
  3. แม่ฮ่องสอน
  4. พัทลุง
  5. สตูล
  6. หนองบัวลำภู
  7. ตาก
  8. ประจวบคีรีขันธ์
  9. ยะลา
  10. ตรัง 

โดยปัตตานีและแม่ฮ่องสอนติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของ จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดต่อเนื่องกันอย่างน้อย 15 ปี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความยากจนเรื้อรังในจังหวัดดังกล่าว นอกจากนี้ หากพิจารณาจาก 10 จังหวัดแรกที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดในปี 2566 จะพบว่า 5 ใน 10 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ตาก และยะลา มักติดอยู่ใน 10 อันดับแรก ของจังหวัดที่มีสัดส่วน คนจนสูงสุดในปีอื่น ๆ ด้วย กล่าวคือ มีแนวโน้มเผชิญกับปัญหาความยากจนเรื้อรัง

 

ทั้งนี้หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนกับสัดส่วนคนจนรายจังหวัด ตามแผนภาพด้านล่าง พบว่า ส่วนใหญ่จังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนสูงมักจะมีสัดส่วนคนจนต่ำขณะที่ จังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่ำจะมีสัดส่วนคนจนสูง ซึ่งรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิด การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในฐานะกลไกสำคัญที่ช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนของประเทศ 

 

อีกทั้งยังสอดคล้องกับผลการศึกษาองค์ประกอบความยากจนที่อธิบายการปรับตัวลดลงของความยากจนว่า เป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและหลุดพ้นจากความยากจนแต่ในระยะหลังกลับมีผลต่อการลดลงของความยากจนเพียงส่วนน้อย เพราะปัจจัยทางด้านการกระจายรายได้ไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่ดี ทำให้ผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมักกระจุกตัวในกลุ่มผู้มีรายได้สูงแทน

 

อย่างไรก็ตาม มีบางจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนค่อนข้างสูงแต่กลับมีสัดส่วนคนจนสูงเช่นกัน เช่น นครศรีธรรมราช อ่างทอง ลำปาง เช่นเดียวกับในบางพื้นที่ที่มีจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างต่ำและมีสัดส่วนคนจนต่ำ เช่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ทำให้ในอีกมุมหนึ่ง จึงอาจไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนได้ว่าการมีรายได้สูงขึ้นจะช่วยแก้ไขปัญหายากจนได้เสมอไป เนื่องจากอาจมีปัจจัยอื่น โดยเฉพาะปัจจัยด้านความเหลื่อมล้ำแฝงอยู่