- 12 พ.ย. 2567
ทลายเหมืองขุดบิทคอยน์ดัดแปลงมิเตอร์ลักกระแสไฟฟ้าทำให้รัฐเสียหายกว่า 10 ล้านบาท ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปูพรมค้น 9 จุด
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วมกับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)ตรวจสอบและป้องกันการละเมิดการใช้ไฟฟ้าจากกรณีขุดเหมืองเงินดิจิทัล ได้ร่วมกันตรวจค้น บ้านต้องสงสัย ในพื้นที่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 9 หลัง ตามหมายค้นของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรวจยึดของกลาง
1. เครื่องขุดเหรียญสกุลเงินดิจิตอล (บิทคอยน์) ซึ่งกำลังถูกเปิดใช้งานอยู่ขณะเข้าตรวจค้น จำนวน 111 เครื่อง
2. เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ พร้อมจอภาพ จำนวน 7 ชุด
3. อินเตอร์เน็ตเราเตอร์ (Router) จำนวน 10 ชุด
4. เครื่องมิเตอร์ไฟฟ้าซึ่งถูกแก้ไข ดัดแปลง จำนวน 10 เครื่อง
ได้ขออนุมัติศาลออกหมายจับและจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 2 ราย ได้แก่
1. นายณัฐพงษ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี
2. นายอาทิตย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี
ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน”
พฤติการณ์ เหมืองบิทคอยน์
ก่อนการปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. ได้รับแจ้งจากพลมืองดีว่ามีบ้านต้องสงสัยเป็นอาคารพาณิชย์ จำนวน 1 หลัง ซึ่งมีชายวัยรุ่นเช่าไว้โดยไม่มีผู้เข้าอยู่อาศัย แต่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้บริเวณรอบบ้าน ทำให้สงสัยว่าอาจใช้ในการติดตั้งเครื่องซิมบ๊อก (Sim Box) ที่คนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้สำหรับแปลงสัญญาณโทรศัพท์ไปหลอกลวงผู้เสียหาย
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. จึงได้ลงพื้นที่ดำเนินการสืบสวนในทุกมิติจนทราบว่าผู้เช่าบ้านดังกล่าวคือ นายณัฐพงษ์ฯ อายุ 30 ปี และทราบว่า นายณัฐพงษ์ฯ ยังได้เช่าอาคารพาณิชย์และติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้โดยไม่มีผู้เข้าอยู่อาศัยในลักษณะเดียวกันอีก 6 แห่ง และยังเป็นเจ้าของบ้านเดี่ยว อีก 2 แห่ง รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของนายณัฐพงษ์ฯ พบว่ามีธุรกรรมที่ต้องสงสัย ในห้วงเดือน ม.ค.66 ถึง ก.ย.67 มียอดเงินหมุนเวียนกว่า 40 ล้านบาท จึงเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. จึงได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)เพื่อตรวจสอบการใช้กระแสไฟฟ้าฟ้าของบ้านต้องสงสัย ผลการตรวจสอบพบว่าบ้านดังกล่าวมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่สูงผิดปกติ ไม่สอดคล้องกับค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน จึงน่าเชื่อว่ามีการลักลอบดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าเพื่อลักกระแสไฟฟ้าและนำไปใช้เปิดการทำงานของเครื่องขุดเหรียญสกุลเงินดิจิตอล (บิทคอยน์) เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจค้น จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ออกหมายค้นบ้านต้องสงสัยทั้ง 9 จุด
ต่อมาวันที่ 7 พ.ย.67 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เข้าตรวจค้นบ้านต้องสงสัยทั้ง 9 จุด ผลการตรวจค้นพบว่าบ้านทั้ง 9 หลัง มีการดัดแปลงพื้นที่เพื่อติดตั้ง เครื่องขุดสกุลเงินดิจิตอล (บิทคอยน์) พร้อมระบบระบายความร้อน โดยพบเครื่องขุดสกุลเงินดิจิตอล (บิทคอยน์) ซึ่งกำลังเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของบ้านแต่ละหลังและถูกเปิดใช้งานอยู่ขณะเข้าตรวจค้น จำนวน 111 เครื่อง
เมื่อเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ตรวจสอบโดยละเอียดจึงพบว่าเครื่องมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านทั้ง 9 หลัง มีร่องรอยแก้ไข ดัดแปลง เพื่อให้วัดค่าปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าได้น้อยกว่าความเป็นจริง จึงได้ร่วมกันตรวจยึดของกลางทั้งหมดนำส่งพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ป. และได้ขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับและจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย นำส่งพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ป. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
จากการสอบถามผู้ต้องหาที่ 1 ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยรับว่าตั้งแต่ประมาณปลายปี พ.ศ.2566 ผู้ต้องหาได้หาเช่าบ้านเพื่อต้องการใช้เป็นสถานที่ติดตั้งเหมืองขุดสกุลเงินดิจิตอล (บิทคอยน์) และได้เริ่มทยอยสั่งซื้อเครื่องขุดบิทคอยน์มือสองผ่านทางกลุ่มเฟซบุ๊ก แล้วนำมาติดตั้งในบ้านแต่ละหลัง
โดยว่าจ้างให้ผู้ต้องหาที่ 2 ทำหน้าที่ดัดแปลงมิเตอร์ไฟ เพื่อทำให้วัดปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าได้น้อยกว่าความเป็นจริง พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและได้เปิดใช้งานระบบเหมืองขุดสกุลเงินดิจิตอล (บิทคอยน์) ดังกล่าวเรื่อยมาจนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้น ตรวจยึดและดำเนินคดีในที่สุด ผู้ต้องหาที่ 2 ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยรับว่าได้ทำหน้าที่ดัดแปลงมิเตอร์ของการไฟฟ้าเพื่อให้อ่านค่าได้น้อยกว่าความเป็นจริง และติดตั้งระบบไฟเพื่อใช้งานกับเครื่องขุดเหรียญสกุลเงินดิจิตอล (บิทคอยน์) โดยได้รับส่วนแบ่งเป็นค่าจ้างจากผู้ต้องหาที่ 1
ตรวจสอบพบมูลค่าความเสียหาย จากการตรวจสอบปริมาณการใช้ไฟฟ้า พบว่าหากไม่มีมีการดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้า เครื่องขุดบิทคอยน์ของกลางจำนวน 111 เครื่อง จะต้องเสียค่าไฟเดือนละประมาณ 1 ล้านบาท ทั้งนี้พบว่าคนร้ายได้ก่อเหตุมาแล้วเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี คาดการณ์ความเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท