- 18 พ.ย. 2567
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงข้อเท็จจริง ตามข้อมูลคำเตือนที่เผยแพร่เรื่อง ให้สังเกตการเกิดสึนามิบริเวณชายทะเลอ่าวไทย รอบนี้จะมีคลื่นสูง 10 กว่าเมตร
ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจง หลังมีผู้โพสต์เตือนว่า ให้สังเกตการเกิดสึนามิบริเวณชายทะเลอ่าวไทย โดยน้ำจะลด แห้งผิดปกติ และจะมีคลื่นสูง 10 กว่าเมตร ว่า
ข้อมูลที่เผยแพร่ดังกล่าว เป็นข้อมูลที่ไม่ได้มีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลทางวิชาการ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์ของทะเลอ่าวไทยแล้ว พบว่า โอกาสที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยจะได้รับผลกระทบจากสึนามินั้นมีน้อยมากจนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีเลย เนื่องจากสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดคลื่นสึนามิคือการเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเล ซึ่งรอยเลื่อนใต้ทะเลที่เป็นแหล่งกำเนิดของสึนามิที่อยู่ใกล้ประเทศไทย (ฝั่งอ่าวไทย) มากที่สุด คือ ร่องลึกก้นสมุทรมะนิลา (Manila Trench) ห่างจากประเทศไทยราว 5,500 กิโลเมตร
จากการจำลองโมเดลการเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอ่าวไทยของผู้เชี่ยวชาญด้าน
แผ่นดินไหวพบว่า หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ขึ้นบริเวณร่องลึกนี้ คลื่นสึนามิจะใช้เวลาราว 11 ชั่วโมงจึงจะกระทบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยที่ จ.ปัตตานี และคลื่นที่กระทบฝั่งจะมีความสูงเพียง 65 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับคลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm surge) ในช่วงฤดูมรสุมแล้ว คลื่นพายุซัดฝั่งยังมีความรุนแรงและอันตรายมากกว่าเสียอีก
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้จัดทีมปฏิบัติการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ทำหน้าที่ติดตามเหตุแผ่นดินไหวและทำการแจ้งเตือนภัยจากสึนามิตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงได้มีการบำรุงรักษาและตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์แจ้งเตือนภัยที่ได้ติดตั้งไว้ตามพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นประจำ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ประชาชนจะได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้าและสามารถอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้ทันเวลา