- 03 ธ.ค. 2567
เปิดภารกิจสุดหิน เจ้าหน้าที่ระดมกำลังวางแผนช่วยลูกช้างป่าติดบ่วง 2 ตัว แต่ติดปัญหาใหญ่เพราะโขลงช้างป่ากว่า 60 ตัวยืนล้อมไม่ห่าง
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมามีรายงานภารกิจสุดหินของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (สบอ.2) ศรีราชา เมื่อได้รับแจ้งว่ามีลูกช้างป่าติดบ่วงจำนวน 2 ตัว แต่อุปสรรคใหญ่ในการเข้าช่วยเหลือคือโขลงช้างป่าขนาดใหญ่กว่า 40-60 ตัวยืนล้อมเฝ้าเอาไว้ไม่ห่าง ทำให้การช่วยเหลือต้องวางแผนอย่างดีเพื่อความปลอดภัยของตัวช้างและเจ้าหน้าที่
วันที่ 2 ธันวาคม 2567 นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (สบอ.2) ศรีราชา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บจากการติดบ่วงบริเวณกลางลำงวง โดยทีมสัตวแพทย์นำโดย น.ส.ศุภลักษณ์ ประจันทร์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
จากการเฝ้าสังเกตพบว่า โขลงช้างยังคงไม่ทิ้งลูกช้างที่บาดเจ็บ และเคลื่อนที่ไปด้วยกันทั้งฝูง ทำให้การเข้าช่วยเหลือต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังสูง ทาง สบอ.2 จึงได้วางแผนปฏิบัติการโดยแบ่งเป็น 3 ทีมหลัก ประกอบด้วย ทีมวางยาสลบที่ต้องดูแลทั้งลูกช้างและแม่ช้างในกรณีที่ยืนเฝ้า ทีมรักษาพยาบาลที่จะทำหน้าที่ตัดบ่วง ทำแผล ให้ยาปฏิชีวนะ และเย็บแผล และทีมควบคุมสถานการณ์ที่จะคอยผลักดันช้างตัวอื่นในฝูงเพื่อความปลอดภัย
เนื่องจากเป็นลูกช้างขนาดเล็กที่อยู่ในฝูงช้างจำนวนมาก การปฏิบัติงานจึงต้องทำด้วยความรวดเร็วและระมัดระวังสูง ทีมสัตวแพทย์จึงต้องแข่งกับเวลาและต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งทีมงานและช้างทุกตัว
ขณะนี้ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมเพื่อเข้าช่วยเหลือทันทีที่พบลูกช้าง โดยทาง สบอ.2 ย้ำชัดว่าการปฏิบัติงานครั้งนี้จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของทุกชีวิต ทั้งมนุษย์และช้างป่า เพื่อให้ภารกิจช่วยเหลือลูกช้างสำเร็จลุล่วงด้วยดี
ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเห็นฝูงช้างดังกล่าว สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
ล่าสุดวันที่ 3 ธันวาคม 2567 มีรายงานว่าต้องทำการปรับเปลี่ยนแผนช่วยลูกช้าง 2 ตัวติดบ่วง นำโดยนายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (สบอ.2) ศรีราชา เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.2 ถึงเหตุพบลูกช้างป่า 2 ตัวได้รับบาดเจ็บจากบ่วงเชือกรัดบริเวณงวง โดยตัวแรกถูกรัดกลางลำงวง ส่วนตัวที่สองถูกรัดที่ปลายงวง ทั้งคู่ยังคงอยู่ร่วมกับโขลงช้างป่าขนาดใหญ่ราว 40-60 ตัว บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าแก่งหางแมว ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี
ทางสำนักฯ ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย หัวหน้าและคณะเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาสอยดาว คณะเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว หัวหน้าและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น หัวหน้าและคณะเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าแก่งหางแมว หัวหน้าและคณะเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน เจ้าหน้าที่องค์การปกครองท้องถิ่น จิตอาสาในพื้นที่ และคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายแก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา)
จากการตรวจสอบพบว่า ลูกช้างตัวที่ถูกบ่วงรัดกลางลำงวงมีน้ำหนักประมาณ 100-200 กิโลกรัม มีบาดแผลลึกเกินครึ่งของเส้นผ่านศูนย์กลางงวง โดยมีพฤติกรรมหากินใกล้ชิดกับแม่ช้างอายุประมาณ 35-40 ปี น้ำหนักราว 4-5 ตัน เจ้าหน้าที่จึงได้แบ่งทีมปฏิบัติการออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ทีมยิงยาซึม ทีมตัดบ่วงและรักษาพยาบาล และทีมเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า
ในการปฏิบัติการ ทีมยิงยาซึมได้ตั้งห้างส่องสัตว์บนต้นไม้ 2 จุด เมื่อได้จังหวะเหมาะสมจึงยิงยาซึมเข้าที่กล้ามเนื้อแม่ช้าง 2 เข็ม ส่งผลให้แม่ช้างวิ่งเข้าป่าลึกไปประมาณ 100 เมตร พร้อมกับโขลงช้างทั้งหมด หลังจากรอ 75 นาที ทีมเฝ้าระวังได้เข้าผลักดันโขลงช้างเพื่อค้นหาแม่และลูกช้าง แต่พบเพียงแม่ช้างที่ยืนซึมอยู่ ส่วนลูกช้างบาดเจ็บถูกช้างตัวอื่นในฝูงพาหนีไปแล้ว ทีมสัตวแพทย์จึงให้ยาแก้ฤทธิ์ยาซึมแก่แม่ช้างและถอนกำลังกลับที่ตั้ง
ล่าสุด นายพิทักษ์ได้จัดประชุมปรับแผนการช่วยเหลือใหม่สำหรับปฏิบัติการในวันที่ 3 ธันวาคม โดยจะเพิ่มจำนวนทีมยิงยาซึมเพื่อวางยาแม่ช้างและลูกช้างพร้อมกัน วางแผนใช้อาหารล่อแยกช้างเป้าหมายออกจากโขลงหลังยาออกฤทธิ์ จากนั้นให้ทีมเฝ้าระวังผลักดันฝูงช้างให้ออกห่างจากช้างเป้าหมาย เพื่อให้ทีมสัตวแพทย์สามารถเข้าทำการรักษาและตัดบ่วงได้อย่างปลอดภัย