ลุ้นทุกนาที คุณหมอเล่าภารกิจส่งต่อชีวิต ต้องไปให้ทันใน 4 ชั่วโมง

คุณหมอเล่าประสบการณ์ ภารกิจส่งต่อชีวิตสุดระทึก "ส่งหัวใจเฉพาะกิจวันพ่อ" ที่ต้องบินไปถึงจุดหมายในระยะเวลา 4 ชั่วโมงเท่านั้น

เปิดภารกิจสู้กับเวลา คุณหมอแชร์ประสบการณ์บินส่งหัวใจเร่งด่วน "ส่งหัวใจเฉพาะกิจวันพ่อ" ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา โดยต้องไปให้ทันกำหนดระยะเวลาเพียง 4 ชั่วโมง เป็นประสบการณ์น่าจดจำและได้นำมาโพสต์เล่าไว้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยเรื่องราวของคุณหมอที่เล่าเอาไว้ระบุดังนี้

 

ลุ้นทุกนาที คุณหมอเล่าภารกิจส่งต่อชีวิต ต้องไปให้ทันใน 4 ชั่วโมง

ลุ้นทุกนาที คุณหมอเล่าภารกิจส่งต่อชีวิต ต้องไปให้ทันใน 4 ชั่วโมง

 

Grab rider เฉพาะกิจ บินส่งหัวใจในวันพ่อ เมื่อต้องสวมวิญญาณ Grab pilot

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อคืนสองทุ่มกว่าๆนั่งกินข้าวเย็นที่หลงเหลา ริมถนนวิภาวดีกับพี่ๆน้องๆที่บริษัท บรรยากาศชิวๆ เย็นๆ ดนตรีเพราะๆ กำลังเพลินๆ

อ. พัชร (อาจารย์ของผมที่เป็นศัลยแพทย์มือเปลี่ยนหัวใจของจุฬาโทรมา)

อ.พัชร : เฮ้ย ต้วง พรุ่งนี้ว่างป่าววะ ทำไรป่าว
Rider : ว่างครับ อจ. มีไรให้รับใช้ (นึกว่าเรียกไปช่วยผ่าตัด)
อ.พัชร : บินไปรับหัวใจให้หน่อยดิ ที่ร้อยเอ็ด
Rider : เดี๋ยวนะ อจ.  เครื่องบินผมมันช้า
อ.พัชร : ใช้เวลาบินเท่าไหร่ต้วง ถ้าต้องไป หาเครื่องไม่ได้เลย คนไข้ที่รอกำลังหัวใจวายอยู่เนี่ยกำลังแย่ จะต้อง on Ecmo ป่าวไม่รู้ (google เอานะ เอคโม่เนี่ย)
Rider : ประมาณ สองชั่วโมงครับ อจ.
อ.พัชร : พอไหว หัวใจขาดเลือดได้สี่ชั่วโมง
Rider : อจ เอาแน่ใช่มุ้ย
อ.พัชร : ตามนั้น
Rider ก็กลับบ้านเลยสิครับ กำลังสนุกกับเพื่อนๆ

ส่งแผนการบินทางเมลแบบด่วนๆ ไปร้อยเอ็ด วงเล็บว่าไปเอาหัวใจ โทรเช็คว่าวิทยุการบินได้รับ flight plan แล้วค่อยนอนตาหลับ

 

ลุ้นทุกนาที คุณหมอเล่าภารกิจส่งต่อชีวิต ต้องไปให้ทันใน 4 ชั่วโมง

 

นอนห้าทุ่มตื่นตีสี่ครึ่ง กราบพระ เพื่อความเป็นสิริมงคล อธิษฐานเเละอนุโมทนากับผู้บริจาคหัวใจท่านนี้ รีบขับรถไปสนามบิน คลองสี่ ปทุมธานี ออกบ้านตีห้า ถึงสนามบินพระอาทิตย์ขึ้นพอดีด้วยความขี้เกียจ  ไฟล์ทที่แล้วลงมายังไม่ได้เติมน้ำมันก็เติมสิครับ ตรวจความเรียบร้อย  เครื่องพร้อมบิน ส่งโลเคชั่นสนามบินให้น้องแคท ผู้ประสานงานปลูกถ่ายอวัยวะ สภากาชาดไทย ที่จะมากับรถ พยบ ของจุฬาเพื่อมารับหัวใจที่จะเอากลับมา ว่าแล้วก็บินไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ

8.00 วิ่งขึ้น ตรงไป อำเภอหินกอง สระบุรี เเล้วตรงแน่วไปที่ร้อยเอ็ด ขอไต่หาระยะสูง ขาไปมีลมต้านตลอด เพราะลมหนาวเข้ามาเรื่อยๆ แรงมั่งเบามั่ง ขึ้นไปถึง หมื่นกว่าฟุต เพื่อเช็คว่าลมแต่ละความสูง ทิศทางและความเร็วเท่าไหร่ (เผื่อขากลับ..จะบินตรงที่มึ..ส่งท้ายแรงๆนี่แหละ แค้นมาหลายทีแล้ว ไอ้ลมเนี่ย ขาไปต้านซะแรงเชียว พอวันกลับ  แทนที่จะส่งท้ายแรงๆ ดันเบาทุกที ซวยตลอด)

 

ลุ้นทุกนาที คุณหมอเล่าภารกิจส่งต่อชีวิต ต้องไปให้ทันใน 4 ชั่วโมง

 

ขาไป ชิวๆ  ไม่รีบ ถึงร้อยเอ็ดสิบโมงสิบนาที  จอดหันหัวเครื่องบินออก ไปยังรันเวย์เพื่อรอวิ่งขึ้นไว้เลย ลงมาซื้อขนมจีบกุ้งที่สนามบิน 101 กินไปหกลูก กับ นมชมพู ของโปรด แล้วไปจ่ายตังค์ค่าจอดเรือบิน  85 บาท (ถูกกว่าจอดรถที่ดอนเมืองอีก)

น้องแคท  โทรมาบอกว่า ทีมผ่าตัดไปถึงกาฬสินธุ์แล้ว (อ.ธัช มั้ง ได้ยินชื่อไม่ชัด น่าจะรุ่นน้องRider หลายปี  หมอผ่าหัวใจจากจุฬา ที่ไปเอาหัวใจนั่งเครื่องจากดอนเมือง 7.15 ไปลงร้อยเอ็ด 8.15 แล้วต่อรถอีกชั่วโมงไปกาฬสินธ์) กำลังจะลงมีดเพื่อตัดหัวใจ ไอ้เราก็บอกว่า ได้เลย Grab มารอที่สนามบินร้อยเอ็ดแล้วครับ น่าจะลงมีดประมาณ 10.15 มั้ง เดานะ กว่าจะเปิด กว่าจะเลาะ นู่นนี่นั่น

11.15 ทางกาฬสินธุ์ แจ้งมาว่า จะ clamp แล้วนะ (clamp คือการหนีบขั้วหัวใจ ขณะที่ยังเต้นๆ อยู่กับเจ้าของเดิม แล้วใส่น้ำยารักษาสภาพหัวใจ  ทำให้หัวใจอยู่นิ่งๆ เพื่อรักษาพลังงาน  แล้วตัดออกมา ใส่กระติกน้ำแข็ง ซึ่งจะอยู่ได้สี่ชั่วโมง) นาฬิกานับถอยหลังได้เริ่มขึ้น เมื่อ 11.15 ดังนั้น 15.15 หัวใจต้องถึง รพ.จุฬา เพื่อให้ได้เลือดจากเจ้าของใหม่ เข้าไปหล่อเลี้ยง ไม่งั้นโอกาสรอดจะน้อยลงเรื่อยๆ ตามเข็มวินาทีที่ขยับ

11.20 รถพยาบาลพร้อมตำรวจนำ ออกจาก รพ.กาฬสินธ์คาดว่า 45นาทีจะถึงสนามบิน 101

11.55 รพ. แจ้งว่าเลี้ยวเข้าสนามบินแล้ว พี่ไรเดอร์ก็ใจหวั่นๆสิครับ ถ้าเกิดมอไซค์ เอ้ย เครื่องบินกูสตาร์ทไม่ติดทำไงวะเนี่ย  แอบเครียดนิดนึง

12.00 หัวใจมาถึงห้องผู้โดยขาออก สนามบินร้อยเอ็ด พี่ไรเดอร์ ยืนรออยู่ใส่เสื้อวิน สีเขียวขัดเจน

พี่ไรเดอร์ก็คว้ากระติกแล้วรีบวิ่งไป เอกซเรย์ ตรวจค้น ผ่านเข้าไปยังลานจอด 

วันนี้ช็อต ที่เหนื่อยสุดก็ตอนนี้แหละ วิ่งหิ้วกระติกหนักห้าโลได้มั้ง กลางลานจอดแดดเปรี้ยง สองร้อยเมตร ไปที่เครื่องบิน หอบแฮ่กสิครับ เก็บกระติกที่ผนึกมาอย่างดีในที่ปลอดภัย ปิดประตูติดเครื่องยนต์ ขอ clearance ว่าจะกลับ กทม.ละนะครับ หอบังคับการบินร้อยเอ็ด (tower) น่ารักมาก ใจดี รีบให้คำอนุญาต วิ่งขึ้น (ขอบคุณน้อง ATC มากนะครับ วันหลังพี่จะไปเที่ยวอีก)

12.10 หัวใจสองดวงก็ลอยขึ้นฟ้าเป็นที่เรียบร้อย ถือว่าไวมาก ส่งไลน์ไปบอกที่กทม. บอกเค้าว่า  วิ่งขึ้นมาแล้ว  ETA 14.00น. คราวนี้ก็ขอไต่ขึ้นความสูง ที่เล็งไว้คือ 6500 ฟุต  ระหว่างไต่ก็แอบเล็งๆ ที่ 4500 ฟุตไว้ด้วยว่าลมส่งท้ายมันแรงเท่าไหร่ (ขากลับมาทาง ตะวันตกต้องบินเลขคู่ เช่น 4,6,8 และกฏการบินด้วยสายตา (visual flight rule VFR) ต้องลงท้ายด้วย 500 จึงเลือกได้ ว่าจะเอา 6500 หรือ 4500 

ปรากฏว่าพอขึ้นไป 6500 ลมแรงสู้ 4500 ไม่ได้ เลยขอลงมาที่ 4500 ขอบคุณ ร้อยเอ็ด approach มาก ให้เลือกความสูง ตามใจชอบ ได้ความเร็วเฉลี่ย ประมาณ 250 กม./ชม. 

13.30 คุณแคท ไลน์ขึ้นมาบอกว่า รถพยาบาล ที่จะมารับหัวใจไปส่งจุฬา มาถึงสนามบินคลองสี่แล้ว ก็พอโล่งใจ ทีเเรกกลัวเค้ามาไม่ถูก เพราะมันงง งง หลงง่าย กำลังบินเพลินๆ ฟังเพลงแก้เครียด สบายๆ ใส่ ออโต้ไพลอต   อ.พัชรก็ ไลน์ขึ้นมา selfie ยิ้มแฉ่ง ภาพจากห้องผ่าตัดที่จุฬา  ที่มีคนไข้นอนอยู่บนเตียงผ่าตัด พร้อมบอกว่า คนไข้ที่รอรับหัวใจเริ่มดมยาแล้ว สบายๆได้เลยนะต้วง ไม่ต้องรีบมาก (แค่ทุกคน เค้ารอมึ..อยู่แหละ) โอ๊ยยยย   กดดันกัปตันมากกกกก

ยิงยาวมาที่หินกอง ขอตัดรูทมาลงที่สนามบินคลอง4 ปทุมธานีเลย ขอบคุณ Oscar กับ BKK approach 119.1 125.8 มากครับ

14.00 เครื่องแตะพื้นที่สนามบินคลองสี่ แอบตกใจเล็กๆ ที่เห็นรถตำรวจ (ฉลามบก)  ห้าหกคัน ตำรวจอีกเกือบสิบนาย กับรถพยาบาลหนึ่งคันทีเเรกนึกว่าจะมาจับ บอสต้วง 555  ขอบคุณน้องๆจราจร โครงการพระราชดำริของในหลวง ร.9 ลงแบบ short field landing คือลงมาเบรคเอี๊ยด เลี้ยวมาจอด ดับเครื่องยนต์ เปิดประตู ส่งกระติกให้น้อง จราจร แล้วบอกว่ารีบไปเลยครับน้อง ไม่ต้องห่วงพี่ (เค้าจะมาห่วงมึ..ทำไม ?  555)

คุณแคท ก็มารออยู่ที่นี่  ตำรวจเอากระติกขึ้นรถพยาบาลพร้อมคุณแคทแล้วรถก็เลี้ยวออกไปใช้เวลาไม่ถึงนาที  เลยถ่ายรูปเป็นที่ระทึก ได้แค่นี้แหละ ค่อยโล่งใจ ที่เราทำภารกิจในส่วนของเราสำเร็จครบถ้วนสมบูรณ์ อย่างไม่คิดว่าจะทำได้ เคยผ่าหัวใจ  ตัดหัวใจ ช่วยอจ.เปลี่ยนหัวใจ  เพิ่งจะเคยส่งหัวใจนี่แหละ

พักเหนื่อยสักพัก ก็ลากเครื่องเข้าโรงเก็บ เติมน้ำมันรอไว้เลย เพื่อความไม่ประมาท  (โดนมาหลายครั้งละ) อีกอย่างวันที่ 11 ต้องบินไปสอนที่คณะแพทย์ มช. ขี้เกียจมาเติมตอนเช้าอีก เติมน้ำมันเสร็จไม่ทันไร โทรไปถามคุณแคทว่า หัวใจถึง รพ.จุฬารึยัง คุณแคทบอกว่า ถึงตั้งแต่ 14.40 แล้วค่ะ อาจารย์ แม่จ้าวววว  ไวมากกกกก คลองสี่ จุฬา สี่สิบนาที ก่อนกำหนดเส้นตาย ตั้งครึ่งชั่วโมง

สรุปว่า การเดินทางของหัวใจดวงน้อยๆ จากเจ้าของเดิมที่กาฬสินธ์ จนถึงเจ้าของใหม่ที่จุฬาใช้เวลาเดินทาง ทั้งหมดประมาณ 3.40 ชั่วโมง เท่านั้น  นับว่าไวเกินคาด ถือว่าทุกภาคส่วน ทำงานประสานกันอย่างดีเยี่ยม

ขออนุโมทนากับผู้บริจาคหัวใจท่านนี้  ทราบว่า ท่านเส้นเลือดแตกในสมอง เมื่ออายุได้39ปีเอง  แต่ไม่ต้องห่วงครับ จะมีคนดูแลหัวใจของท่านให้เต้นต่อเนื่องไปได้อีกหลายสิบปี ทำประโยชน์ให้คนอื่นได้อีกมากมาย ผมเห็นมาเยอะแล้ว
ขอบคุณ ทีมประสานงาน ปลูกถ่ายอวัยวะ สภากาชาดไทย
ขอบคุณทีม harvest donor (ตัด) และทีมต่ออวัยวะ (recipient) โดยเฉพาะ อ.พัชร ซึ่งตอนนี้คงกำลังผ่าตัดอยู่
ขอบคุณ วิทยุการบิน ( aerothai )
ขอบคุณน้อง จนท กรมท่าอากาศยาน ที่ร้อยเอ็ด
ขอบคุณ รพ.กาฬสินธ์ และ ตำรวจจราจร พระราชดำริ รวมถึง ตำรวจที่ กาฬสินธ์ที่นำขบวนมาส่งด้วย
ทุกฝ่ายทำงานเป็นทีม ประสานงานกันได้ดีเยี่ยม
ขอบคุณลูกของข้าพเจ้าด้วย ที่ไม่โวยวาย ว่าวันพ่อ แล้วพ่อ..หายหัวไปไหน?

ปล. ก่อนเข้าผ่าตัด อ.พัชร บอกว่าวันหลัง ต้วงช่วยไปตัดแล้วเอามาส่งให้ด้วยก็ดีนะ ไม่ไหวจะเคลียร์ จบการรายงาน Grab rider ส่งหัวใจเฉพาะกิจวันพ่อเเต่เพียงเท่านี้ครับ

 

ขอบคุณ Kornprom Saengaram