- 11 ธ.ค. 2567
ทัวร์ลงสนั่น สาวชี้ช่องบิดหนี้ กยศ. 5 แสน พร้อมเผย 4 ข้อ ทำยังไงถึงไม่ให้โดนยึดทรัพย์ แถมชวนโกงให้องค์กรล้มไปเอง
เรียกได้ว่ากลายเป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์สนั่นโลกออนไลน์ เมื่อมีสาวรายหนึ่งรีวิวบิดหนี้กยศ. หรือ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ในกลุ่มเฟซบุ๊กเกี่ยวกับกฎหมาย จำนวน 5 แสนบาท เผย 4 ข้อ ทำยังไงถึงไม่ให้โดนยึดทรัพย์ ชวนช่วยกันบิดหวังใหล้มไปเอง โดยมีใจความว่า
1. ควรย้ายทรัพย์สินที่เป็นชื่อตัวเองก่อนถูกฟ้อง มิเช่นนั้นจะโดนคดีอาญา ซึ่งคนบิดหนี้เล่าว่า ได้ย้ายทรัพย์สินคือ บ้าน 1 หลัง โอนมาเป็นชื่อป้า เนื่องจากลูกสาวยังอายุไม่ครบ 20 ปี แต่เมื่อลูกสาวอายุ 21 ก็ให้ป้าโอนกลับมาเป็นชื่อลูกสาวแทน
2. สินทรัพย์ใหม่ที่ซื้อหลังจากการวางแผนบิดหนี้ ก็ซื้อในชื่อของลูก เงินต่าง ๆ ที่รับเข้าบัญชี ก็ให้โอนเข้าบัญชีลูก และพยายามเก็บทองคำแท่งเอาไว้ให้มาก
3. ถ้าหากเราบิดหนี้ ทาง กยศ. จะไปทวงหนี้กับคนค้ำประกันแทน ซึ่งคนค้ำประกันของคนบิดหนี้ก็เสียชีวิตไปแล้ว ไม่เหลือมรดกอะไรให้ลูก ทายาทคนค้ำประกันก็ไม่ต้องชดใช้อะไรด้วย
4. เรื่องนี้ไม่มีอะไรที่น่าห่วง เพราะ กยศ. ทวงไม่ได้ ถ้าทุกคนรวมใจกันบิด ไม่นานองค์กรแบบนี้ก็ล้มไปเอง ถ้ากล้าปรับก็กล้าบิด
งานนี้หลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไปชาวเน็ตวิจารณ์อย่างดุเดือดทันที จนเจ้าของโพสต์รับทัวร์ที่ม่ถล่มไม่ไหวลบโพสต์ดังกล่าวออกไปในที่สุด แต่ชาวเน็ตมือไวแคปไว้ได้ทัน และนำมาโพสต์พร้อมกับวิจารณ์กันอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผู้ใช้เฟสบุ๊ค Sarikahappymen ที่ระบุว่า
"ในฐานะที่หมอเองเคยเป็นคนที่ได้ประโยชน์และเรียนจบจากกองทุนนี้ และปัจจุบันได้ชำระกองทุนครบเรียบร้อย และดีใจที่มีกองทุนนี้มาก ๆ อยากให้มันยั่งยืน เพื่อช่วยสร้างโอกาสให้กับน้อง ๆ รุ่นต่อ ๆ ไปได้ เห็นอันนี้แล้ว พูดไม่ออกจริง ๆ ครับ"
และยังได้คอมเมนต์อีกว่า "กองทุนมาจากภาษีประชาชน มีหน้าที่ต้องให้ประชาชน มีหน้าอะไรมาเก็บค่าปรับหากำไรจากประชาชน ต้องบิดให้เข็ดคนพวกนี้เค้าเชื่อแบบนี้แน่นอน และก็คิดว่าสิ่งที่เค้าทำมันคือสิ่งที่ถูกต้องแล้วด้วย เป็นการสั่งสอนระบบครับ เชี่ยมจริง ๆ เชี่ยมจริง ๆ เชี่ยมจริง ๆ" ท่ามกลางชาวเน็ตที่เข้ามาคอมเมนต์สาวคนดังกล่าวกันรัวๆ
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ล่าสุดวันที่ 11 ธ.ค. 67 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ได้ให้สัมภาษณ์กรณีนี้ว่า ตนยังไม่เห็นรายละเอียด แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเงิน กยศ. จะนำไปใช้ประโยชน์กับคนรุ่นถัดไปที่จะได้โอกาสเข้าถึงการศึกษา และเรื่องนี้ไม่ต้องมาบิด หรือหลีกเลี่ยง เพราะตอนนี้มีกระบวนการปรับโครงสร้าง หนี้ กยศ. อยู่แล้ว เพราะได้ตัดเรื่องเบี้ยฝากออกไป และเรียกร้องให้เข้ามาทำสัญญาใหม่กับ กยศ. ด้วยซ้ำ พร้อมทั้งย้ำว่า เรื่องนี้เป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ หากไปคิดแบบนี้ จะเป็นการตัดโอกาสในการศึกษาของคนที่มาทีหลัง และไม่ควรทำ
เมื่อถามว่า หากมีการเบี้ยวหนี้จริง จะมีวิธีลงโทษอย่างไร นายจุลพันธ์ ระบุว่า สาเหตุที่เราแก้กฎหมายเรื่องนี้ เพราะการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าโทษของเรื่องนี้จะต่ำ แต่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาขึ้น ไม่อยากให้คิดด้วยวิธีนี้ เพราะจะเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างทางการศึกษาของประเทศไทย
และเมื่อถามถึงกระแสข่าวเงินของกองทุน กยศ. กำลังจะหมด นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า ไม่มี เรื่องนี้เป็นกลไกการบริหารงบประมาณ