- 17 ธ.ค. 2567
สาธารณสุขศรีสะเกษ ชี้แจงแล้ว หลังมีดราม่าสนั่นโซเชียล โรงพยาบาลรัฐขายช้อนคันละ 5 บาทให้คนไข้ ไม่มีช้อน ไม่ต้องกิน
เรียกว่ากำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในโลกออนไลน์ สำหรับดราม่า "โรงพยาบาลขายช้อนคันละ 5 บาท" โดยเพจเฟซบุ๊ก อีซ้อขยี้ข่าว : อีซ้อ ได้โพสต์ภาพอาหารในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พร้อมระบุข้อความว่า "ไม่มีช้อน ไม่ต้องกิน ดราม่า รพ.รัฐขายช้อนคันละ 5 บาท...กำลังเป็นดราม่าเดือดจัด สำหรับโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งที่ไม่มีช้อนให้คนไข้ ซึ่งบางมุมมองว่าผู้ป่วยตามต่างจังหวัด บางคนไร้ญาติ ไร้เงินทอง ถ้าจะให้ซื้อทุกมื้อก็คงไม่ใช่ ช้อนคันละไม่กี่บาท ทำไมโรงพยาบาลถึงไม่มีบริการ"
"อีกมุมนึงมองว่าปกติช้อนส้อมเป็นของใช้ส่วนตัว ที่ทางคนไข้หรือทางญาติต้องเตรียมมาเอง ซึ่งหลายๆ รพ. ก็ใช้วิธีนี้ สาเหตุหลักๆ มาจาก "คนไข้และญาติขโมยเอาช้อนกลับบ้านด้วย" ทำให้ช้อนส้อมที่มีไว้สำหรับบริการอาหาร "หายรายวัน" เป็นทุกที่ไม่ว่าจะโรงพยาบาลรัฐและเอกชน หลายโรงพยาบาลต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ไม่น้อยในแต่ละปี ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องเข้าใช้บริการในโรงพยาบาล ควรพกข้อนส่วนตัวไปด้วยเป็นการดีที่สุด และถ้าที่ไหนมีช้อนส้อมให้จำไว้อย่านำกลับหรือขโมยช้อนเด็ดขาด ทานเสร็จเก็บไว้ในถาดอาหารให้เรียบร้อย"
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่าได้ตรวจสอบข้อมูลไปที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์แล้ว ต้องยอมรับว่ามีการขายช้อนส้อมให้ผู้ป่วยจริง แต่เป็นการอำนวยความสะดวกให้แผนกผู้ป่วยในตึกของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเริ่มขายช้อนส้อมกันตั้งแต่ช่วงมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19
"การใช้สิ่งของส่วนใหญ่จะเน้นให้ใช้สิ่งของส่วนตัว โดยช่วงนั้นผู้ป่วยเองจะจัดหามาเป็นเครื่องใช้ส่วนตัว แต่ในบางครั้ง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย เพื่อไม่ให้ต้องเดินทางออกไปซื้อข้างนอก จึงจัดหามาและให้ผู้ป่วยซื้อแทน"
เมื่อถามถึงกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของศรีสะเกษหรือไม่ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จากการตรวจสอบยังไม่พบโรงพยาบาลอื่นในพื้นที่ศรีสะเกษ ที่ดำเนินการเช่นนี้ ซึ่งถือว่าจริงๆ เมื่อเสิร์ฟอาหารผู้ป่วย ต้องมีการบริการช้อนส้อมให้ แต่กรณีที่ไม่มีช้อนส้อมกับผู้ป่วยนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค การอำนวยความสะดวกกับคนไข้ จากที่ตนทราบรายงานนั้น มีเรื่องของช้อนส้อมที่หายไป จึงดำเนินการบริหารจัดการภายใน แต่ในตอนนี้มีการปรับรูปแบบในการบริการ กลับมาเป็นรูปแบบเดิมแล้ว คือมีการนำช้อนส้อมมาให้ผู้ป่วยใช้รับประทาน