- 17 ธ.ค. 2567
ครม. ไฟเขียวเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรผู้ประกันตน เป็น 1,000 บาท จากเดิม 800 บาท เริ่ม 1 ม.ค. 2568 ผู้ประกันตนเช็กสิทธิ
ความคืบหน้า เงินสงเคราะห์บุตร ล่าสุดวันที่ 17 ธ.ค. 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร เพื่อช่วยบรรเทาภาระในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตน จากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเพื่อให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกันตน ในวันที่ 1 มกราคม 2568
โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการประกันสังคม ได้เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าว โดยจะมีการเพิ่มอัตราการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนสงเคราะห์บุตร เป็นอัตรา 1,000 บาท ในรูปแบบเหมาจ่ายต่อเดือนต่อบุตร 1 คน จากเดิม 800 บาทซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค.นี้
ทั้งนี้ ผู้ประกันตน จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์
เงื่อนไขรับเงินสงเคราะห์บุตร
- เป็นผู้ประกันตน ประกนสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39
- จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือนก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
- เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (ยกเว้นบุตรบุญธรรม)
- อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์
- ผู้ประกันตนพ่อหรือแม่ สามารถเลือกใช้สิทธิได้ 1 สิทธิ
ขั้นตอนยื่นขอรับเงินสงเคราะห์บุตรผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.เข้าไปที่เว็บไซต์ประกันสังคม (คลิกที่นี่)
2.ใส่รหัสเพื่อเข้าสู่ระบบ/หรือสมัครสมาชิก (หากยังไม่เคยสมัครสมาชิก)
- กรอกรหัสผู้ใช้งาน (เลขบัตรประจำตัวประชาชน)
- กรอกรหัสผ่านผู้ใช้งาน
3.หลังเข้าระบบสำเร็จ ให้ผู้ประกันตนเลือกไปที่เมนูยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนด้วยตนเอง (e-Self Service)
4.จากนั้นให้ผู้ประกันตนเลือกไปที่เมนู "ขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุน"
5.จากนั้นผู้ประกันตนเลือก "สงเคราะห์บุตร "
6.ให้ผู้ประกันตนกรอกข้อมูลตามที่ระบบระบุไว้ให้ถูกต้องครบถ้วน รวมถึงอัปโหลดเอกสารลงในระบบได้เลย
ขั้นตอนยื่นด้วยตัวเองที่สำนักงานประกันสังคม
1. ผู้ประกันตนต้องกรอกแบบ สปส.2-01 พร้อมลงลายมือชื่อและนำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน (กรณีผู้ประกันตนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตร 3 คน ในคราวเดียวกันสามารถใช้แบบคำขอฯ ชุดเดียวกันได้)
2. เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณาอนุมัติ
3. สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
4. พิจารณาสั่งจ่าย จ่ายเป็นรายเดือนโดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 สามารถยื่นเรื่องรับสิทธิภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ และได้รับถึงเมื่อบุตรอายุ 6 ปีบริบูรณ์เท่านั้น โดยต้องส่งเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 12 เดือน ตลอดระยะเวลา 36 เดือนก่อนคลอด จึงจะได้รับสิทธิ
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการหมดสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตร
- บุตรอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
- ตัวบุตรเสียชีวิต
- ได้ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
- สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน
โดยทางสำนักงานประกันสังคม ยังให้สิทธิกับผู้ประกันตนชายมาตรา 33, 39 รับสิทธิประโยชน์เงินสงเคราะห์บุตรแทนภรรยาที่ไม่ใช่ผู้ประกันตน ด้วย ผ่าน 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่
หลักเกณฑ์ที่ 1 กรณีค่าตรวจและฝากครรภ์ คุณพ่อเบิกเท่าที่จ่ายจริง จำนวน 5 ครั้ง ไม่เกิน 1,500 บาท ตั้งแต่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป วงเงินเบิกจ่ายตามลำดับ ตั้งแต่ 200-500 บาทต่อครั้ง
หลักเกณฑ์ที่ 2 คุณพ่อสามารถรับสิทธิค่าทำคลอดแบบเหมาจ่าย เป็นเงิน 15,000 บาท เบิกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่มีเงื่อนไขว่าต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่ภรรยาจะคลอดลูก
หลักเกณฑ์ที่ 3 คุณพ่อที่จดทะเบียนสมรสกับภรรยา หรือจดทะเบียนรับรองบุตรว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน สามารถขอรับเงินสงเคราะห์บุตรได้ ตั้งแต่บุตรแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์