- 26 ธ.ค. 2567
"หมอหมู" รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูล หลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะขึ้นสูงสุดภายในระยะเวลากี่นาที
"หมอหมู" รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความเตือน นักดื่ม ทั้งหลาย กับการดื่มเหล้า ที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ระบุว่า
เตือน! ดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาณมากในเวลาสั้นๆ เสี่ยงตาย
ขอแสดงความเสียใจกับ ‘แบงค์ เลสเตอร์’ ด้วยนะครับ
‘แบงค์ เลสเตอร์’ น้องเป็นอินฟลูที่ดังมาจากการแร็ปขายพวงมาลัยเลี้ยงคุณยาย พักหลังๆ มักจะมีคนจ้างให้น้องกินอะไรแปลกๆ ล่าสุดน้องได้เสียชีวิตแล้ว ในช่วงประมาณ 3.40 น. ที่ผ่านมาหลังจากถูกจ้างดื่มเหล้าให้หมดแบน แลกเงิน 30,000 บาท
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและในระยะเวลาสั้น ๆ อาจทำให้เกิด “ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน” ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีการออกฤทธิ์กดประสาท หลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะขึ้นสูงสุดภายในระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 45 นาที โดยระยะเวลาการออกฤทธิ์ในร่างกายขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม ครับ
โดยปกติแล้ว ร่างกายจะขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายในปริมาณ 15-20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมง ดังนั้นเมื่อเราดื่มในปริมาณมากๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ ร่างกายจะขับออกไม่ทัน ส่งผลให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตามข้อมูลทางการแพทย์ ระบุว่า ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด หากสูงกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลันได้แล้วครับ
อาการของ “ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน” ประกอบไปด้วย สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง อาเจียนรุนแรง หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ (หัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ) ความดันโลหิตต่ำอาจทำให้ช็อกได้ อุณหภูมิร่างกายผิดปกติ หมดสติ ในกรณีที่รุนแรง อาจหมดสติไม่รู้สึกตัว และอาจเสียชีวิตได้
สำหรับการดื่มเหล้า 1 แบน (ประมาณ 750 มิลลิลิตร) นั้น จากข้อมูลพบว่า สามารถทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงขึ้นได้มากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น น้ำหนักตัว เพศ อาหารในกระเพาะอาหาร โรคประจำตัว และความเร็วในการดื่ม) ซึ่งเป็นระดับที่อาจทำให้เกิดอาการมึนเมาอย่างรุนแรงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และหากเป็นการดื่มอย่างรวดเร็วและมีการดื่มมาก่อนหน้านั้นในปริมาณที่มากอยู่แล้ว ก็จะยิ่งทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายสูงขึ้นไปอีกมากเลยครับ
ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 300 – 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์: อาจหมดสติ ชีพจรเต้นช้าลง เกิดภาวะกดการหายใจ (respiratory depression) และอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ
ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป: อาจเกิดอาการโคม่าและเสียชีวิตได้เนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว (แอลกอฮอล์กดการทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจและการรู้สึกตัว)
ดื่มอย่างไร? ไม่ให้เกิด “ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน”
ตามคำแนะนำของงานวิจัยในต่างประเทศ ระบุว่า การดื่มน้อยกว่า 5 แก้ว ในผู้ชาย และ 4 แก้ว ในผู้หญิง ในช่วงเวลา 2 ชม. จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน
อ้างอิงข้อมูลจาก: Vonghia L, Leggio L, Ferrulli A, Bertini M, Gasbarrini G, Addolorato G; Alcoholism Treatment Study Group. Acute alcohol intoxication. Eur J Intern Med. 2008 Dec;19(8):561-7. doi: 10.1016/j.ejim.2007.06.033. Epub 2008 Apr 2. PMID: 19046719.