- 07 ม.ค. 2568
วันที่ 12 มกราคม 2568 ดาวอังคารใกล้โลกที่สุด ปรากฏสว่างสีส้มแดงบนท้องฟ้า ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า สังเกตได้ด้วยตาเปล่า
12 มกราคม 2568 “ดาวอังคารใกล้โลกที่สุด” ปรากฏสว่างสีส้มแดงบนท้องฟ้า ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า สังเกตได้ด้วยตาเปล่า หากชมผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไป จะเห็นพื้นน้ำแข็งสีขาวบริเวณขั้วของ ดาวอังคาร ได้ NARIT ชวนมาส่องดาวอังคารผ่านกล้องโทรทรรศน์ 5 จุดหลัก ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เชียงใหม่ และหอดูดาวภูมิภาค นครราชสีมา ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา และสงขลา ตั้งแต่เวลา 18:00-22:00 น. ฟรี! และรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ช่วงวันที่ 12 - 16 มกราคม 2568 เป็นช่วงเวลาเหมาะสมในการสังเกตการณ์ดาวอังคารมากที่สุด เนื่องจากคืนวันที่ 12 มกราคม 2568 ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ที่ระยะห่างประมาณ 96 ล้านกิโลเมตร และหลังจากนั้นจะโคจรไปอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์วันที่ 16 มกราคม 2568 ช่วงดังกล่าวสามารถสังเกตดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป หากสังเกตด้วยตาเปล่าจะเห็นดาวอังคารส่องสว่างประกายสีส้มแดงบนท้องฟ้า และเมื่อสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไป จะเห็นพื้นน้ำแข็งสีขาวที่อยู่บริเวณขั้วของดาวอังคารได้
เชิญชวนผู้สนใจส่องดาวอังคารผ่านกล้องโทรทรรศน์ คืนวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2568 เวลา 18:00 - 22:00 น. ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 5 แห่ง ได้แก่
- เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เชียงใหม่ โทร. 084-0882261
- โคราช : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา โทร. 086-4291489
- ขอนแก่น : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น โทร. 063-8921854
- ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา โทร. 084-0882264
- สงขลา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา โทร. 095-1450411
หรือรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ดาวอังคารไม่ได้เข้าใกล้โลกมากที่สุดในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์พอดีเหมือนดาวพฤหัสบดี หรือดาวเสาร์ เนื่องจากวงโคจรของดาวอังคารค่อนข้างรี จึงทำให้วันที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุดนั้นเคลื่อนไปจากวันที่ดาวอังคารอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์เล็กน้อย ซึ่งดาวอังคารจะเคลื่อนมาอยู่ในตำแหน่งนี้ทุก ๆ 26 เดือน และโคจรจะมาใกล้โลกในครั้งถัดไปวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2570
ที่มา : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ