- 28 ม.ค. 2568
เทียบ ประสิทธิภาพ หน้ากากอนามัย กัน ฝุ่น PM 2.5 แบ่งออกเป็น 5 ชนิด อยู่สถานที่ไหน ต้องใช้หน้ากากอนามัยกันฝุ่นแบบใด
แม้ 1 - 2 วันมานี้สถานการณ์ ฝุ่น PM 2.5 ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ทางพยากรณ์อากาศก็บอกว่า PM 2.5 จะกลับมาอีกในช่วงวันที่ 29 - 30 มกราคม 2568 นี้ ซึ่งสิ่งที่หลายคนต้องคำนึงในตอนนี้ก็คือ หน้ากากอนามัยกันฝุ่น PM 2.5 แต่บางคนอาจจะต้องคำนึงถึง ประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยที่จะใช้กันฝุ่น PM 2.5 เพราะในบางพื้นที่ "ฝุ่น PM 2.5" สาหัสมากจริงๆ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ กรณีฝุ่น PM2.5 แถลงข่าวประจำวัน โดย พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 แล้วมีอาการรุนแรงได้แก่
1. เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบลงมา เนื่องจากยังมีระบบป้องกันและภูมิคุ้มกันของร่างกายยังพัฒนาได้ไม่ดีเหมือนผู้ใหญ่
2. หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอายุครรภ์ 6 เดือนแรก ที่อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ที่กำลังพัฒนาอวัยวะต่างๆ จึงอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อทารกในครรภ์ รวมถึงการคลอดก่อนกำหนดและทารกแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
3. ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ
4. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด โรคหอบหืด ต่อมาเป็นกลุ่มผู้ที่มีอาชีพเสี่ยง ได้แก่ ผู้ทำงานกลางแจ้ง ตำรวจ พนักงานเก็บขยะ พนักงานรักษาความปลอดภัย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ค้าริมถนน วิศวกร คนงานก่อสร้าง ที่แม้ว่าจะร่างกายแข็งแรง แต่เสี่ยงได้รับผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวได้ และ กลุ่มผู้สูบบุหรี่ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปอด โรคหอบหืด โรคหัวใจและโรคมะเร็ง
ทั้งนี้ พญ.จุไร อธิบายต่อว่า สำหรับอาการสังเกต เช่น หอบเหนื่อย หายใจเหนื่อย มีเสมหะมากกว่าปกติ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด วิงเวียน หน้ามือ เกิดผลกระทบที่เยื่อบุตาอักเสบ หรือมีผิวหนังอักเสบ เป็นต้น ทั้งนี้ประชาชนสามารถป้องกันตัวเองได้ตามมาตรการ "เช็ก" ค่าฝุ่นจากแอพพลิเคชั่น Air4Thai
"ปิด" ประตูหน้าต่างให้มิดชิด "ใช้" หน้ากากอนามัย "เลี่ยง" ทำกิจกรรมนอกอาคารหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง และ "ลด" การใช้รถส่วนตัวและลดการเผาทุกชนิดที่ทำให้เกิดควัน และถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง ขอให้สังเกตอาการตนเองให้มากขึ้น ถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์
อีกทั้ง พญ.จุไร ยังกล่าวถึงข้อแนะนำในการสวมหน้ากากอนามัย ว่า คำแนะนำจะแบ่ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประชาชนทั่วไป แนะนำถ้าค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีส้ม คือ 37.6 - 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ให้สวมหน้ากากอนามัยชนิดทางการแพทย์ (Surgical Mask) เมื่ออยู่กลางแจ้ง หากความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 อยู่ระดับสีแดง 75 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ให้สวมหน้ากากอนามัยในอาคาร
และสวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 หรือเทียบเท่า เมื่อออกนอกอาคาร และ สำหรับกลุ่มเปราะบาง ถ้าความเข้มข้นฝุ่นอยู่ระดับสีเหลือง 25.1-37.5 มคก./ลบ.ม. ให้สวมหน้าอนามัยเมื่ออยู่กลางแจ้ง หากฝุ่นอยู่ระดับสีส้มและแดง ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในอาคาร และสวมหน้ากากชนิด N95 เมื่อออกนอกอาคาร
พญ.จุไร กล่าวต่อว่า ประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM2.5 แบ่งออกเป็น 5 ชนิด ได้แก่
- แบบที่ 1 หน้ากากอนามัยชนิด N95 แบบไม่มีวาล์ว สามารถป้องกันฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ประมาณร้อยละ 95 แบบที่ 2 ชนิด N95 แบบมีวาล์ว ป้องกันฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ประมาณร้อยละ 95
- แบบที่ 3 หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ป้องกันฝุ่นที่มีขนาด 2.5 ไมครอนได้ประมาณร้อยละ 50-70 ขึ้นอยู่กับยี่ห้อและวัสดุ โดยต้องสวมให้แนบชิดใบหน้า
- แบบที่ 4.หน้ากากผ้าฝ้าย ป้องกันฝุ่นที่มีขนาด 2.5 ไมครอนได้ประมาณร้อยละ 40.9
- แบบที่ 5 หน้ากากผ้ามัสลิน ป้องกันฝุ่นที่มีขนาด 2.5 ไมครอนได้ประมาณร้อยละ 37.8
"หากในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบลงมา แนะนำให้ผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิด สวมหน้ากากอนามัยเมื่อมีความจำเป็น โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 1 ขวบลงมา ไม่แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเลย ดังนั้นถ้าค่าฝุ่นสูง แนะนำให้ปรับที่สิ่งแวดล้อม และไม่พาเด็กเล็กไปสัมผัสกับฝุ่น และในเด็กที่อายุมากกว่า 2 ขวบขึ้นไป แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ส่วนชนิดผ้าก็สวมได้แต่ป้องกันได้น้อย" พญ.จุไร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ด้านโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับหญิงตั้งครรภ์และผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยใน 3 แบบแรก เนื่องจากหน้ากากอนามัยชนิดผ้ามีจะประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นได้น้อย แต่ถ้าเป็นประชาชนทั่วไปสามารถสวมหน้ากากอนามัยได้ทุกชนิด แต่ถ้าเลือกเป็นชนิดผ้าจะขึ้นอยู่กับเวลาที่สัมผัสกับฝุ่นและระดับของฝุ่น