- 08 ก.พ. 2568
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการอุทธรณ์และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ กรณีถูกสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน พ.ศ.2567
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ กรณีถูกสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน พ.ศ. 2567 รายละเอียดดังนี้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 (2) และมาตรา 141 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และมติ ก.ตร. ในการประชุมครั้งที่ 8/2567 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 จึงออกกฎ ก.ตร. ไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กฎ ก.ตร. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยกรณีถูกสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.ตร. นี้
ข้อ 3 ข้าราชการตำรวจผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยในสถานโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
ข้อ 4 การใช้สิทธิอุทธรณ์กรณีถูกสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน ให้อุทธรณ์คำสั่งต่อผู้บังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาที่สั่งลงโทษ หรือ ก.ตร. แล้วแต่กรณี ดังนี้
(1) กรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่รองผู้บังคับการหรือเทียบเท่าลงมาเป็นผู้สั่งลงโทษ ให้อุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการหรือเทียบเท่าที่เป็นผู้บังคับบัญชาของผู้สั่งลงโทษ
(2) กรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่รองผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าลงมาถึงผู้บังคับการหรือเทียบเท่าเป็นผู้สั่งลงโทษ ให้อุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าที่เป็นผู้บังคับบัญชาของผู้สั่งลงโทษ
(3) กรณีผู้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการหรือเทียบเท่าของกองบังคับการที่ขึ้นตรงต่อสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้สั่งลงโทษ ให้อุทธรณ์คำสั่งต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
(4) กรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่จเรตำรวจแห่งชาติ หรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือเทียบเท่าลงมาถึงผู้บังคับการหรือเทียบเท่าเป็นผู้สั่งลงโทษ ให้อุทธรณ์คำสั่งต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
(5) กรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้สั่งลงโทษ ให้อุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.ตร.
(6) กรณีที่ผู้บังคับบัญชาอื่นนอกเหนือจาก (๑) ถึง (๕) เป็นผู้สั่งลงโทษ ให้อุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชาที่เป็นหัวหน้าสูงสุดของหน่วยงานหรือกลุ่มตำแหน่งที่ผู้อุทธรณ์นั้นสังกัดอยู่
กรณีที่ผู้สั่งลงโทษใช้อำนาจสั่งลงโทษในฐานะเป็นผู้รักษาราชการแทนหรือปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งใด ให้ถือว่าเป็นการสั่งลงโทษของผู้ดำรงตำแหน่งที่รักษาราชการแทนหรือปฏิบัติราชการแทนนั้น
ข้อ 5 ให้ผู้บังคับบัญชาหรือ ก.ตร. ตามข้อ ๔ เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ที่รับไว้ในแต่ละกรณี
ข้อ 6 การอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งประกอบข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายและเหตุผลในการอุทธรณ์ให้เห็นว่า ได้ถูกลงโทษโดยไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นธรรมอย่างไร และลงลายมือชื่อและที่อยู่ของผู้อุทธรณ์
ข้อ 7 เพื่อประโยชน์ในการอุทธรณ์ ผู้จะอุทธรณ์มีสิทธิขอตรวจหรือคัดรายงานการสืบสวนหรือรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนหรือสอบสวน หรือของผู้สืบสวนหรือสอบสวนได้ ส่วนการขอตรวจหรือคัดบันทึกถ้อยคำบุคคล พยานหลักฐานอื่น หรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษที่จะอนุญาตหรือไม่ก็ได้ โดยให้พิจารณาถึงประโยชน์ในการรักษาวินัยการปกครองบังคับบัญชาข้าราชการตำรวจ ความปลอดภัยของพยาน ตลอดจนเหตุผลและความจำเป็นเป็นเรื่อง ๆ ไป ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย