- 23 ก.พ. 2568
"หมอเจด" แนะวิธีลดอาการกรดไหลย้อน เรื้อรัง ไม่หายขาด แค่ปรับง่ายๆทำได้ด้วยตนเอง ช่วยลดความเสี่ยงได้มาก ถ้าทำ 5 อย่างนี้ กรดไหลย้อนหายได้แน่
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2568 "หมอเจด" นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ได้โพสต์ให้ความรู้เรื่องสุขภาพ เกี่ยวกับ "กรดไหลย้อน" โดยระบุว่า กรดไหลย้อนเรื้อรัง ไม่หายขาด แค่ปรับง่าย ๆ ตามนี้
หมอเจด แนะ 5 วิธีลดอาการกรดไหลย้อน เรื้อรัง ไม่หายขาด ปรับทำตามได้ง่ายๆ
ปัจจุบันโรคกรดไหลย้อนกลายเป็นปัญหาสุขภาพที่คนเป็นกันเยอะขึ้นและพบในทุกช่วงอายุ หลายคนอาจคิดว่าอาการนี้แค่ทำให้รู้สึกแสบหน้าอกหรือจุกแน่น แต่ความจริงแล้ว กรดไหลย้อนที่ไม่ได้รับการดูแลหรือปล่อยไว้นาน ๆ อาจส่งผลเสียรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้นะครับ
ยิ่งในยุคปัจจุบันที่การใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคกรดไหลย้อนอยู่ตลอด พฤติกรรมที่ว่าถ้าแก้ไขได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงและอาการของกรดไหลย้อนได้มาก ถ้าทำ 5 อย่างนี้ กรดไหลย้อนหายได้แน่
5 วิธีลดอาการกรดไหลย้อน เรื้อรัง
1. อย่ากินเยอะเกินไป
หลายคนเป็นนักกินตัวยง เวลาไปบุฟเฟ่ต์ก็กินเอาให้คุ้ม กินจนพุงแทบจะแตก บางทีไม่ได้หิว แต่อดใจไม่ได้ ซึ่งนี่แหละเป็นต้นเหตุหลักของอาการกรดไหลย้อน การกินมากเกินไปไม่เพียงแค่ทำให้อิ่มจุกแต่ยังทำให้กระเพาะต้องทำงานหนักเกินไป จนกรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาได้
ถ้าอยากหายหรือลดอาการกรดไหลย้อน ลองลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อลง กินพออิ่มและเคี้ยวให้ละเอียด จะช่วยให้กระเพาะไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป อีกทั้งการเคี้ยวละเอียดช่วยให้ระบบย่อยทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย ดังนั้นจำไว้ว่าการกินพอดีๆ นี่แหละเป็นกุญแจแรกที่จะช่วยให้หายจากกรดไหลย้อนได้
2. กินเสร็จอย่าพึ่งนอน
เคยไหมที่พอกินเสร็จแล้วเผลอนอนกลิ้งไปมาบนเตียง แล้วอาการกรดไหลย้อนก็มาเยือนทันที! สาเหตุหลักก็เพราะว่าเมื่อเรานอนหลังทานอาหาร กระเพาะยังย่อยไม่เสร็จ อาหารที่ยังค้างอยู่ในกระเพาะก็ไปกดทับ ทำให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นมาได้ง่าย
ดังนั้นหลังจากทานข้าวเสร็จ อย่าเพิ่งรีบนอนทันที ลองลุกขึ้นเดินเล่นหรือทำกิจกรรมเบาๆ ประมาณ 15-20 นาที เพื่อช่วยให้กระเพาะย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะมื้อเย็นหรือมื้อดึก ให้ลดปริมาณอาหารลงหน่อย และเว้นระยะเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงก่อนนอน วิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดกรดไหลย้อนได้ดีทีเดียว
3. นอนหมอนสูงหน่อย ช่วยได้เยอะ
บางคนอาจจะไม่รู้ว่าการนอนหมอนสูงช่วยลดอาการกรดไหลย้อนได้ เพราะเมื่อหัวเราสูงขึ้นนิดนึง ก็จะช่วยให้กรดในกระเพาะไม่ไหลย้อนกลับขึ้นมาง่ายๆ ลองใช้หมอนที่ยกศีรษะให้สูงขึ้นหรือหมอนลิ่มเพื่อการนอนที่สบายและป้องกันกรดไหลย้อน
ถ้าใครเคยนอนแล้วรู้สึกคอไม่สบาย อาจจะลองปรับความสูงของหมอนให้น้อยลง แต่ยังคงมีการยกศีรษะให้สูงกว่าลำตัวนิดนึง การนอนแบบนี้ไม่เพียงช่วยลดอาการกรดไหลย้อน แต่ยังช่วยให้เราหลับสบายขึ้นอีกด้วย
4. เลี่ยงอาหารที่กระตุ้นกรด
อาหารบางประเภทเป็นตัวการกระตุ้นกรดไหลย้อนได้เป็นอย่างดี เช่น อาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารที่มีแก๊สเยอะๆ อย่างพริก กระเทียม หม่าล่า พวกนี้เข้าข่ายกระตุ้นกรดไหลย้อนทุกตัว นอกจากนี้ แอลกอฮอล์และบุหรี่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรดไหลย้อนมากขึ้นเช่นกัน
หากเป็นไปได้ ลองเลี่ยงอาหารพวกนี้หรือทานให้น้อยลง และถ้าคุณเป็นสายปาร์ตี้ที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์บ่อยๆ อาจจะต้องลดการดื่มลงหน่อยนะครับ สุขภาพกระเพาะจะได้แข็งแรงขึ้นและลดโอกาสเกิดกรดไหลย้อนได้ดีทีเดียว
5. แอลกอฮอล์และบุหรี่
แอลกอฮอล์และบุหรี่คือคู่อันตรายตัวจริงสำหรับคนที่เป็นกรดไหลย้อน แอลกอฮอล์ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะอาหารทำงานได้แย่ลง ทำให้กรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาง่ายขึ้น ส่วนบุหรี่ก็ทำให้เกิดกรดไหลย้อนโดยตรงเช่นกัน เพราะนิโคตินในบุหรี่จะลดการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดเช่นเดียวกัน ทำให้กรดสามารถย้อนกลับขึ้นมาได้แบบไม่ยากเลย
นอกจากนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ยังทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ และบุหรี่ก็ยังทำลายเนื้อเยื่อในกระเพาะไปเรื่อยๆ ยิ่งดื่มหรือสูบเยอะ ระบบการย่อยอาหารก็จะแย่ลง ทำให้โอกาสเกิดกรดไหลย้อนบ่อยขึ้น และถ้าเป็นหนัก ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหากระเพาะอาหารอื่นๆ ตามมาอีกด้วย
ถ้าอยากหายจากกรดไหลย้อน แนะนำให้ลดหรือเลิกทั้งแอลกอฮอล์และบุหรี่ได้จะดีที่สุด อาจจะเริ่มจากลดปริมาณให้น้อยลง และถ้าหยุดได้ก็ควรหยุด จะช่วยให้สุขภาพกระเพาะและการย่อยอาหารดีขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะร่างกายจะได้ฟื้นฟูจากการโดนทำลายจากสารเหล่านี้ด้วย การเลี่ยงสองสิ่งนี้จะช่วยลดอาการกรดไหลย้อน และป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นอีกได้แน่นอน
หมอเจด ยังระบุอีกว่า ใครที่กำลังเจอกับโรคนี้ ลองปรับพฤติกรรมสัก 4-8 สัปดาห์ ควบคู่กับการกินยา ไม่เกิน 2 เดือนจะดีขึ้น และลองค่อยๆ ลดยาลง แล้วอาการดีขึ้นก็คือหายแล้ว การหายคือการเอายาออก ยาไม่ได้มีไว้กินตลอดชีวิตนะครับ เรื่องของกรดไหลย้อน โรคกระเพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถช่วยได้ มันจะช่วยให้อาการดีขึ้นและป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำใหม่ บางคนกินยาแล้วดีขึ้นแต่ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมยังทำเหมือนเดิมยังไงก็ไม่มีทางหายขาด ก็จะกลับมาเป็นซ้ำอีก หรือบางกลุ่มที่เป็นนานๆ กินยาแล้วก็ไม่ดีขึ้น เป็นเกิน 3-6 เดือน ก็อาจจะต้องไปส่องกล้องและรักษาโดยการผ่าตัด
ขอบคุณ FB : หมอเจด