พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย

กรมศิลป์ - กรมอุทยานแห่งชาติฯ พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง และภาพเขียนสีในแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันแถลงข่าว การค้นพบครั้งสำคัญในแวดวงโบราณคดีไทยได้เกิดขึ้น เมื่อกรมศิลปากรและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมกันแถลงข่าวการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็งและภาพเขียนสีในแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษย์ในดินแดนประเทศไทย

 

พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย

 

พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย

ที่มาของการค้นพบ

 

พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย

 

อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตั้งอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ในพื้นที่อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้มีการพบภาพเขียนสีโบราณบริเวณเพิงผาฝั่งบึงบัว โดย นายดีน สมาร์ท นักสำรวจถ้ำ กรมศิลปากร ได้เข้ามาดำเนินการศึกษา สำรวจ คัดลอกภาพเขียนสีชุดนี้ และจัดทำเป็นหนังสือชื่อ ศิลปะถ้ำเขาสามร้อยยอด ออกเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ นับเป็นครั้งแรกที่สาธารณชนได้ทราบว่าพื้นที่เขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์แห่งนี้มีร่องรอยของคนโบราณอยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุเก่าไปถึง ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีที่แล้ว  

 

พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย

 

จากนั้นในปีพ.ศ. ๒๕๖๐ ได้มีการค้นพบแหล่งภาพเขียนสีเพิ่มใหม่ในบริเวณเทือกเขาสามร้อยยอดที่ถ้ำโหว่ หุบตาโคตร ซึ่งมีอายุอยู่ในสมัยเดียวกับภาพเขียนสีบนเพิงผาฝั่งบึงบัว ทำให้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าบริเวณเทือกเขาสามร้อยยอดคงเป็นถิ่นฐานสำคัญของมนุษย์โบราณ และน่าจะยังมีหลักฐานหรือร่องรอยของคนโบราณอยู่ในพื้นที่อีกหลายแห่ง ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี จึงเริ่มดำเนินงานโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย โดยมีพื้นที่สำรวจหลักที่เขาสามร้อยยอดเพื่อศึกษาเรื่องราวของมนุษย์โบราณที่นี่ว่าเป็นคนกลุ่มไหน มีวิถีชีวิตแบบใด โดยดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ผลการสำรวจได้พบแหล่งโบราณคดีแหล่งใหม่เพิ่มเติมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อีกจำนวน ๗ แหล่ง ซึ่งแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดินเป็น ๑ ในแหล่งที่มีการค้นพบใหม่ในครานั้น โดยที่กรมศิลปากรได้วางแผนดำเนินการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีเพื่อช่วยกำหนดอายุที่แน่ชัดของภาพเขียนสีเหล่านี้ในลำดับต่อไป

 

พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย

สภาพทั่วไปของแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน 

แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด หมู่ ๔ บ้านพุน้อย ตำบลสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นถ้ำภูเขาหินปูน ขนาดค่อนข้างใหญ่ ตัวถ้ำอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๑๒๕ เมตร ปากถ้ำหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก ขนาดความกว้างของปากถ้ำประมาณ ๙.๕ เมตร ภายในถ้ำแบ่งออกได้เป็น ๕ คูหา ทุกคูหามีร่องรอยการใช้พื้นที่ของมนุษย์ใอดีต และมี ๓ คูหาที่พบภาพเขียนสี  

คูหาที่ ๑ เป็นเพิงผาที่หันหน้าออกทางฝั่งทะเล มีขนาดขนาดไม่กว้างนัก พบภาพเขียนสีบริเวณผนังและเพดานถ้ำจำนวนมาก เขียนด้วยสีแดง 

ส่วนใหญ่เป็นภาพบุคคล บางคนมีเครื่องประดับร่างกาย อยู่ในท่ากางแขนขาคล้ายกระโดด หรือกำลังเต้นรำ มือด้านขวาคล้ายถือสิ่งของอยู่ บางคนอยู่ในท่าคล้ายง้างคันธนูกำลังล่าสัตว์ ภาพเขียนรูปสัตว์ที่สามารถแปลความได้ มีสัตว์ตระกูลเก้ง กวาง ลิง สัตว์เลื้อยคลาน  เป็นต้น ส่วน คูหาที่ ๒  ทอดยาวลึกต่อจากคูหาแรก แต่มีแสงสว่างและอากาศถ่ายเทสะดวก พบภาพเขียนสีบริเวณผนังถ้ำอยู่ในระดับสายตา และระดับต่ำใกล้กับพื้นดิน เขียนด้วยสีแดง ยังไม่สามารถตีความได้ว่าเป็นภาพอะไร

คูหาที่ ๓ เป็นเพิงผาโล่งกว้างอยู่อีกด้านโดยมีคูหาที่ ๒ เป็นทางเดินเชื่อมไปคูหาที่ ๑  คูหานี้เกิดจากการถล่มของถ้ำ เกิดเป็นช่องแยกขนาดใหญ่ สามารถเดินเข้าสู่ถ้ำจากทางนี้ได้อีกทางหนึ่ง เพิงผาหินด้านนี้เป็นผนังหินยาวตลอดทั้งแนว ด้านล่างของเพิงผาเว้าเข้าไปเป็นถ้ำ ลึกประมาณ ๒๐ เมตร เพดานค่อนข้างสูงและค่อยๆ ลาดเอียงต่ำลงไปจนสุดผนังถ้ำด้านใน พบภาพเขียนสีบริเวณผนังถ้ำด้านในเกือบทั้งแนว อยู่ในระดับสายตา และพบในระดับใกล้กับพื้นดินด้วย ภาพเขียนด้วยสีแดง เป็นภาพบุคคล ภาพสัตว์(วัว?) และบางภาพไม่สามารถอธิบายได้ ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุดจากการหลุดร่อนของผิวหิน บนผิวดินยังพบเศษภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ชิ้นส่วนกระดองเต่า และเครื่องมือหินกะเทาะแบบโหบินเนียน (อายุประมาณ ๕,๐๐๐ - ๑๒,๐๐๐ ปี)  อันแสดงถึงร่องรอยการเข้ามาใช้ถ้ำนี้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในอดีต

คูหาที่ ๔  อยู่ลึกถัดไปจากคูหาที่ ๓ ยาวประมาณ ๕๐ เมตร มีร่องรอยคนยุคปัจจุบันเข้ามาขุดลอกดินบริเวณพื้นถ้ำ กลางถ้ำมีแท่นฐานประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสมัยใหม่ แต่ปัจจุบันได้เคลื่อนย้ายรอยพระพุทธบาทลงไปยังวัดพุน้อยแล้ว  ไม่พบภาพเขียนสีและเศษภาชนะดินเผาภายในคูหานี้ พบเพียงเปลือกหอยแครงบนพื้นถ้ำซึ่งอาจเป็นของที่มนุษย์ในอดีตนำมาเป็นอาหาร ส่วน คูหาที่ ๕ อยู่ด้านในสุด เป็นโพรงแคบลึกและมืด มีค้างคาวอาศัยอยู่จำนวนมาก  อากาศถ่ายเทไม่สะดวกนัก ภายในพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินค่อนข้างหยาบ ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์และฟันสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งเป็นหลักฐานการใช้ถ้ำนี้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในอดีต

 

พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย

 

การขุดค้นแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน

 

ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ จนถึงปัจจุบัน กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี ได้ดำเนินงานโครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาร่องรอยกิจกรรม วัฒนธรรม พิธีกรรมความเชื่อของคนโบราณที่เคยอาศัยอยู่ในถ้ำดิน และในบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย โดยเลือกขุดค้นในคูหาที่ ๓ ชิดผนังถ้ำ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีการพบทั้งภาพเขียนสีบนผนังและโบราณวัตถุอยู่บนพื้นถ้ำ ขุดค้นหลุมขนาดกว้าง ๒ เมตร ยาว ๒.๕ เมตร ตามแกนแนวทิศเหนือใต้ ทำการขุดค้นโดยใช้เกรียงและแปรงขนอ่อนค่อยๆ ขุดและปัดดินออกไปทีละชั้น ชั้นละ ๕ 

 

เซนติเมตร และบันทึกหลักฐานโบราณวัตถุที่พบและแยกจัดเก็บหลักฐานในแต่ละชั้นดิน

 

ผลการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีพบว่าที่ถ้ำดินมีหลักฐานคนยุคก่อนประวัติศาสตร์เข้ามาใช้พื้นที่หลายช่วงเวลา ดินที่ทับถมตั้งแต่ระดับพื้นถ้ำลึกลงไปประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เป็นชั้นของขี้เถ้ากองไฟเกือบทั้งหลุม เกิดจากกองไฟที่สุมเผาซ้ำๆ ในพื้นที่เดียวกัน และยังพบโบราณวัตถุประเภทเปลือกหอย กระดูกสัตว์ และเมล็ดพืชจำนวนมากอยู่ในกองขี้เถ้าไฟซึ่งน่าจะเหลือทิ้งจากการบริโภคของคนยุคนั้น และเมื่อขุดค้นในระดับลึกลงไปพบว่ากองขี้เถ้าไฟมีปริมาณลดลง กองไฟที่พบแยกเป็นกองๆ ชัดเจน เริ่มปรากฏชั้นดินตะกอนถ้ำสีน้ำตาลแทรกให้เห็นเพิ่มมากขึ้น มีก้อนหินขนาดเล็กใหญ่กระจายเต็มชั้นดิน จนถึงระดับความลึกที่ ๑๘๐ เซนติเมตรจากระดับพื้นถ้ำปัจจุบัน ร่องรอยกองไฟยังปรากฏอยู่บ้างแต่ไม่กระจายเต็มพื้นที่เหมือนชั้นดินบนๆ  พบเครื่องมือหินกะเทาะ และสะเก็ดหินที่เกิดจากการกะเทาะเพื่อทำเครื่องมือหินปนแทรกอยู่เป็นจำนวนมาก 

 

เมื่อเก็บก้อนหินที่ทับถมขึ้นแล้วขุดค้นจนถึงระดับความลึกประมาณ  ๒ เมตรจากพื้นถ้ำ ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ฝังอยู่จำนวน ๑ โครง 

 

โครงกระดูกมนุษย์ พบจากการขุดค้นเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๗ ที่ระดับความลึกประมาณ ๒ เมตรจากระดับพื้นถ้ำปัจจุบัน พบจำนวน ๑ โครง ฝังในท่านอนหงายเหยียดยาว โดยวางร่างยาวขนานกับผนังถ้ำ หันศีรษะไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ แขนค่อนข้างแนบลำตัว ปลายเท้าชิดกันแสดงถึงร่องรอยการมัดหรือห่อศพก่อนฝัง  โครงกระดูกมีขนาดเล็ก ผิวกระดูกสีน้ำตาลแดงมีคราบขี้เถ้าติดอยู่บนผิวกระดูก แขนท่อนล่างพบร่องรอยเส้นใยพืชทับอยู่บนผิวกระดูก จากการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่าเป็นโครงกระดูกเด็ก อายุเมื่อตายอยู่ในช่วงประมาณ ๖-๘ ปี (พิจารณาจากการขึ้นของฟันกรามแท้ซี่ที่ ๑ ที่ขึ้นแล้ว) 

หลักฐานที่พบและการจัดวางศพ แสดงให้เห็นถึงการประกอบพิธีกรรมการฝังศพ โดยหลุมศพนี้มีการเตรียมพื้นที่ก่อนการนำศพมาวาง ศพมีการมัดหรือห่อด้วยเส้นใยพืช เมื่อวางศพแล้ว มีการนำหินหลายขนาดมาวางทับบนตัวศพ โดยหินขนาดใหญ่และขนาดกลางวางอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ศีรษะ หน้าอก ท่อนขา และปลายเท้า จากนั้นน่าจะมีการก่อกองไฟเพื่อรมควันศพ สันนิษฐานว่าเพื่อเป็นการไล่สัตว์ร้าย ดับกลิ่น หรือฆ่าเชื้อโรคที่เกิดจากศพ โดยพบก้อนขี้เถ้าและถ่านขนาดเล็กจำนวนมากปนแทรกอยู่ในชั้นดินที่อยู่ร่วมกับโครงกระดูก อีกทั้งสภาพของโครงกระดูกเองก็แสดงถึงการได้รับความร้อน แต่มิใช่เป็นการเผาศพ

 

พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย

 

การกำหนดอายุของแหล่งโบราณคดีและโครงกระดูกที่พบ 

กรมศิลปากร ได้คัดเลือกตัวอย่างถ่านและเปลือกหอยที่พบจากการขุดค้นในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ – พ.ศ.๒๕๖๖  ซึ่งเป็นชั้นดินตอนบน ระดับความลึกตั้งแต่ ๔๐ - ๑๖๐ เซนติเมตรจากพื้นถ้ำ จำนวน  ๕ ตัวอย่าง

 

จัดส่งไปหาค่าอายุด้วยวิธี Accelerator Mass Spectrometer (AMS) ณ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ BETA ANALYTIC Inc. สหรัฐอเมริกา ผลการกำหนดอายุทำให้ทราบว่าที่ถ้ำดินนี้มีคนเข้ามาอยู่อาศัยและใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยที่ระดับความลึกจากพื้นถ้ำตั้งแต่ ๑๖๐ เซนติเมตร ขึ้นมาจนถึง ๔๐ เซนติเมตร เป็นชั้นทับถมที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ในช่วงตั้งแต่ประมาณ ๒๙,๐๐๐ ปีขึ้นมาจนถึงประมาณ ๑๑,๐๐๐ ปี ส่วนโครงกระดูกมนุษย์นั้นมีอายุเก่าแก่กว่าเนื่องจากพบอยู่ในระดับความลึกต่ำลงไปที่ประมาณ ๒ เมตร โครงกระดูกนี้จึงมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๙,๐๐๐ ปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจหาค่าอายุที่แท้จริงต่อไป

 

จากข้อมูลข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดินปรากฏหลักฐานร่องรอยการอยู่อาศัยใช้พื้นที่ของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง การคัดเลือกโบราณวัตถุจากบางชั้นดินไปกำหนดอายุ (ไม่ใช่ตัวอย่างจากชั้นดินที่เก่าที่สุด) ค่าอายุที่ได้แสดงถึงความสืบเนื่องของคนที่เข้ามาอยู่อาศัยที่ถ้ำดินตั้งแต่ประมาณ ๒๙,๐๐๐ ปีที่แล้วเป็นอย่างน้อย ต่อเนื่องขึ้นมาจนถึงประมาณ ๑๑,๐๐๐ ปี และกลุ่มคนที่เขียนภาพเขียนสีอาจเป็นคนก่อนประวัติศาสตร์รุ่นหลังสุดที่เข้ามาใช้พื้นที่เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีที่แล้ว หลักฐานทางโบราณคดีที่ทับถมอย่างยาวนานในถ้ำดินนั้น แสดงถึงร่องรอยของกลุ่มคนดั้งเดิมตั้งแต่สมัยหินเก่า (อายุก่อน ๑๒,๐๐๐ ปี) สืบเนื่องมาจนถึงกลุ่มโหบินเนียน (อายุตั้งแต่ ๑๒,๐๐๐ ปีจนถึงประมาณ ๕,๐๐๐ ปี) ที่มีแบบแผนการดำรงชีวิตด้วยการหาพืชป่า ล่าสัตว์ป่ามาเป็นอาหาร รู้จักการหาอาหารจากสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลาย รู้จักวิธีการปรุงอาหารให้สุกก่อนกิน มีการใช้เครื่องมือหิน เครื่องมือกระดูก และไม้ มาเป็นอุปกรณ์ในการล่าหรือใช้งาน อาศัยอยู่ตามถ้ำหรือเพิงผา เป็นกลุ่มสังคมขนาดเล็ก จากชนิดสัตว์และหอยที่พบยังแสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมโบราณในสมัยนั้นว่าน่าจะเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีทุ่งหญ้า และหนองน้ำ ที่สัตว์หลากหลายชนิดอาศัยอยู่จำนวนมาก

 

พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย

 

สำหรับหลักฐานของโครงกระดูกมนุษย์ที่มีอายุมากกว่า ๒๙,๐๐๐ ปีนั้น นับเป็นโครงกระดูกมนุษย์ปัจจุบัน (Homo sapiens) ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและยังพบอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดด้วย จัดเป็นมนุษย์สมัยหินเก่า (Palaeolithic Period) เทียบได้กับยุคทางธรณีกาลคือ สมัยไพลสโตซีน (ยุคน้ำแข็ง) ตอนปลาย (๑๒๕,๐๐๐ - ๑๑,๗๐๐ ปีที่แล้ว) ซึ่งเป็นช่วงที่มีธารน้ำแข็งปกคลุมพื้นโลกมากกว่าปัจจุบัน ระดับน้ำในทะเลลดต่ำลงกว่าปัจจุบันมาก  โดยยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในช่วงประมาณ ๒๙,๐๐๐ - ๑๙,๐๐๐ ปีที่แล้ว เป็นช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็น และระดับน้ำทะเลลดต่ำลงกว่าปัจจุบันนี้มากกว่า ๑๐๐ เมตร ส่งผลให้บริเวณอ่าวไทยเป็นผืนแผ่นดินเชื่อมต่อถึงอินโดนีเซีย การพบหลักฐานการอยู่อาศัยและการฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ในช่วงยุคดังกล่าวในพื้นที่อ่าวไทยบริเวณชายฝั่งตะวันตกของประเทศไทย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ครั้งนี้ ถือเป็นข้อมูลใหม่ที่สำคัญและมี

 

ความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยอธิบายวิถีการดำรงชีวิตและการปรับตัวของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมในอดีตตั้งแต่ช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็นจนเข้าสู่ช่วงที่อากาศเริ่มอบอุ่นขึ้นเมื่อสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง และระดับน้ำทะเลที่ท่วมสูงขึ้น  จนกระทั่งบริเวณนี้มีสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศน์ที่หลากหลายเช่นในปัจจุบัน กรมศิลปากรคาดหวังว่าการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีและศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นในอนาคต จะทำให้ภาพเรื่องราวของคนก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยกระจ่างชัดเจนมากขึ้น และอาจเป็นจิ๊กซอร์ตัวหนึ่งที่ช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับคน สังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมโบราณของคนยุคแรกเริ่มในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กระจ่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat